เมื่อเทคโนโลยีคุม 'โควิด-19' ในจีน หันมาคุม 'ชีวิตคน'
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในจีน ทำให้รัฐบาลต้องใช้สารพัดวิธีในการควบคุมโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เข้มงวด การกักกันโรคประชาชน การระงับการขนส่งสาธารณะ และที่น่าสนใจคือ “เทคโนโลยีสุดล้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือน ดาบ 2 คม
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีนยังคงพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสมรณะที่เชื่อกันว่ามีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย์ ทางภาคกลาง ซึ่งขณะนี้คร่าชีวิตผู้ป่วยไปกว่า 2,600 คนทั่วแผ่นดินใหญ่
แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตาอย่างยิ่ง คือ ทางการจีนอาจถือโอกาสนี้ในการเพิ่มศักยภาพของ “เทคโนโลยีสอดแนม” ของตน เพื่อช่วยยับยั้งการระบาดในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก
ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สร้างเครือข่ายสอดแนมประชาชนขนาดใหญ่ ผ่านวิธีการต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแกนกลาง
ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และการใช้ข้อมูล หรือ ดาต้า มีความล้ำสมัยขึ้นในยุคปัจจุบัน รัฐบาลปักกิ่งได้ค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการติดตามประชากรจีน รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้าผ่านกล้องวงจรปิดประมาณ 170 ล้านตัวทั่วประเทศ
นั่นเท่ากับจำนวนกล้องวงจรปิด 1 ตัวต่อประชากรทุก ๆ 12 คนในจีน
- จีนติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมากบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง -
ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันในจีน พุ่งเป็นกว่า 77,000 คนแล้ว ทางการจึงต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสอดแนมของตนให้ได้มากที่สุด
แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจยังคงอยู่ต่อไป ต่อให้จีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสดังกล่าวได้แล้วก็ตาม
- โดรน-คิวอาร์โค้ด
นอกเหนือจากเทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่ใช้ติดตามพลเมืองแล้ว จีนยังใช้ประโยชน์จากวิธีการใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วอย่าง โดรน และ คิวอาร์โค้ด
ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวโกลบอลไทม์สของทางการจีน โพสต์คลิปวิดีโอผ่านทวิตเตอร์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว แสดงให้เห็นการใช้โดรนลำหนึ่งที่ติดตั้งกล้องและลำโพง ในการแจ้งให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัสมรณะ
Chinese officials in rural areas are creatively using #drones to make sure local residents don‘t gather together without wearing masks during the nationwide battle against the #coronavirus. https://t.co/e6khcWvUrx pic.twitter.com/td7u1ZZ4Kz
— Global Times (@globaltimesnews) January 31, 2020
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังขอความช่วยเหลือจากบรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างบริษัทเทนเซ็นต์ เจ้าของ “วีแชท” แอพพลิเคชั่นแชทยอดนิยมในจีน และบริษัทลูกของอาลีบาบา กรุ๊ปอย่าง “แอนท์ ไฟแนนเชียล” ซึ่งดำเนินการแอพพลิเคชั่นชำระเงิน “อาลีเพย์”
ผู้ใช้ชาวจีนสามารถกรอกเลขประจำตัวประชาชนของตน และสถานที่ที่ตนเคยเดินทางไปทั้งบนวีแชทและอาลีเพย์
จากนั้น ผู้ใช้จะได้รับคิวอาร์โค้ดที่อิงตามสีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งจะให้คำแนะนำว่าพวกเขาต้องถูกกักกันโรคนานแค่ไหน หรือสามารถเดินทางไปที่อื่น ๆ ได้หรือไม่
ขณะเดียวกัน เครือข่ายมือถือในจีนก็มีฟีเจอร์ตามติดชีวิตผู้ใช้งานด้วย
บริษัทไชนา ยูนิคอม และบริษัทไชนา เทเลคอม ซึ่งต่างเป็นรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม ขอให้ประชาชนกรอกเลข 3 ตัวท้ายของเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขหนังสือเดินทาง ซึ่งหลังจากนั้นจะถูกใช้ในการแกะรอยที่อยู่ของบุคคลนั้น ๆ
ผู้ใช้จะได้รับข้อความที่สรุปชื่อสถานที่ที่พวกเขาเคยไปมา และฟีเจอร์นี้ยังสามารถใช้งานในกรณีที่มีอาคารออกกฎควบคุมการเข้าตึกอย่างเข้มงวดสำหรับผู้ที่ยังไม่ผ่านการกักกันโรค 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาเฝ้าระวังที่รัฐบาลจีนแนะนำ
นอกจากนี้ บรรดายักษ์ใหญ่เอไอของจีนก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เช่นกัน เมื่อต้นเดือนนี้ “เม็กวี” (Megvii) ประกาศติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิในกรุงปักกิ่ง โดยอุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับอุณหภูมิร่างกายที่ผิดปกติ และแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ให้ทำการตรวจวัดไข้บุคคลนั้นซ้ำอีกครั้ง
ขณะที่ เซนส์ไทม์ (Sensetime) บริษัทเอไอจีนอีกราย ได้พัฒนาระบบอัลกอริธึมที่สามารถตรวจจับคนที่ไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ด้วยเหตุที่ก่อนหน้านี้ ทางการจีนประกาศสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากเมื่อออกนอกเคหะสถานในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด
- ‘ปัจจัยกระตุ้น’ จีนขยายสอดแนมประชาชน
แม้ว่ารัฐบาลจีนใช้โรคโควิด-19 ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้เทคโนโลยีสอดแนมมากขึ้น แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ระบบสอดแนมคนหมู่มากนี้จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ผ่านพ้นช่วงที่ไวรัสมรณะถูกควบคุมได้แล้วก็ตาม
“ฉันคิดว่ามีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เป็นตัวกระตุ้นและยกระดับการพัฒนาระบบสอดแนมประชาชนของจีน” - มายา หวัง นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประเทศจีน
มายา หวัง นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประเทศจีน ยกตัวอย่างถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2551 ซึ่งทำให้รัฐบาลจีน พรรคคอมมิวนิสต์ และเครือข่ายสอดแนมประชาชน มีวาระในการใช้งานเครือข่ายนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไปอีก
“พรรคคอมมิวนิสต์ได้ทำให้การรักษาเสถียรภาพ ซึ่งเป็นคำสวยหรูของการควบคุมทางสังคม เป็นภารกิจสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และทุ่มเททรัพยากรมหาศาลให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อเฝ้าจับตากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาล สกัดการประท้วง เซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต และพัฒนาและใช้งานระบบสอดแนมคนหมู่มาก” หวังเขียนในงานวิจัยล่าสุด
นอกจากนี้ หวังยังคาดว่า เหตุการณ์ที่คล้ายกันอาจเกิดขึ้นอีกโดยใช้การระบาดของโรคโควิด-19 ในการสร้างความชอบธรรม
“ฉันคิดว่ามีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เป็นตัวกระตุ้นและยกระดับการพัฒนาระบบสอดแนมประชาชนของจีน”
หวังเสริมว่า สิ่งที่เริ่มต้นมาจากระบบปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งมักถูกตีความได้อย่างกว้าง ๆ ว่าหมายถึงอาชญากรรมทางการเมืองในจีน ตอนนี้ถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ รวมถึงการต่อสู้กับโรคโควิด-19 นั่นเอง
ไนเจล อิงค์สเตอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (ไอไอเอสเอส) มองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยกระดับกลยุทธ์ที่มีอยู่ในการควบคุมสังคม โดยใช้การระบาดของไวรัสมรณะเป็นหนทางสู่การเพิ่มจำนวนเครื่องมือสอดแนมประชาชน
“สำหรับเรา นี่อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่สำหรับรัฐบาลที่ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด นี่เป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างยิ่ง”
--------------------------------
ที่มา: