นายกฯใหม่มาเลเซีย ปิดเกม‘อันวาร์-มหาธีร์’
เมื่อการชิงไหวชิงพริบเพื่อจะเป็นนายกฯ ระหว่างมหาธีร์ กับอันวาร์ อิบราฮิม ต้องปิดฉากลง เมื่อนายกฯ คนใหม่ "มูห์ยิดดิน ยัสซิน" คว้าตำแหน่งนี้ไปครอง
ในที่สุดมาเลเซียได้ มูห์ยิดดิน ยัสซิน นักการเมืองชาตินิยมเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของอดีตพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ วัย 94 ปีลาออกกะทันหันเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่หลายคนมองว่าเป็นเกมรวบอำนาจ แต่สุดท้ายก็ต้องหลุดวงโคจรจนต้องโอดครวญว่าถูกหักหลัง
การชิงไหวชิงพริบเพื่อจะเป็นนายกฯ ระหว่างมหาธีร์ กับอันวาร์ อิบราฮิม ต้องปิดฉากลง เมื่อนายกฯ คนใหม่คว้าตำแหน่งนี้ไปครอง
ตามที่สำนักพระราชวังอิสตานา เนการา ในมาเลเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ (29 ก.พ.) สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชาห์ แห่งมาเลเซียทรงแต่งตั้ง มูห์ยิดดิน ยัสซิน ผู้ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสภา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย สืบต่อจากมหาธีร์ โมฮัมหมัด
มูห์ยิดดิน วัย 72 ปี ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งต่อสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลลาห์ อาหมัดชาห์ เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (1 มี.ค.) ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จลุล่วง
การเปลี่ยนแปลงผู้นำรอบนี้เกิดขึ้นไม่ถึง 2 ปีหลังจากมหาธีร์จับมือกับอันวาร์ คู่อริเก่า วัย 72 ปี ชูนโยบายต้านทุจริต จนกำราบพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ที่เคยเป็นรัฐบาลมานานถึง 60 ปีลงได้
แน่นอนว่า มหาธีร์ไม่ยอมแพ้กับการเปลี่ยนนายกฯใหม่ พยายามหาเสียงสนับสนุนในสภามาต่อรอง
“นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก คนแพ้เลือกตั้งจะมาตั้งรัฐบาล” มหาธีร์กล่าวโดยอ้างถึงผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2561
อดีตนายกฯ อาวุโสสุดของโลกยืนยันว่า ตนได้เสียงสนับสนุน 114 เสียงจาก ส.ส. ทั้งสภา 222 เสียง แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ในประเทศที่ต้องต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองตลอดเวลา เสียง ส.ส.ที่มหาธีร์อ้างก็ใช่ว่าทุกคนสนับสนุนเขาทั้งหมด
ข้อโต้แย้งของอดีตนายกฯ อยู่ที่ว่า รัฐบาลที่มีอดีตพรรคร่วมรวมอยู่ด้วยจะทำคดีทุจริตของนักการเมือง อย่างคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่ขณะนี้ถูกดำเนินคดีทุจริตได้อย่างไร
อ่านข่าว-จับตา! 'มูห์ยิดดิน' นายกฯใหม่มาเลย์ เจอ 'กระแสต้าน
ชนวนเหตุการเมืองมาเลเซียผันผวนรอบนี้ เริ่มต้นจากมหาธีร์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ยุติการเป็นพันธมิตรกับอันวาร์ โดยเสนอตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติรวมทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้เขามีอำนาจมากขึ้น แต่อันวาร์ก็เสนอตัวเป็นนายกฯ เช่นกัน ขณะที่มูห์ยิดดันก็ไปจับขั้วของตนเอง
สุดท้ายสมเด็จพระราชาธิบดีต้องเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะได้ตั้งรัฐบาล ขณะที่มหาธีร์กับอันวาร์ต้องกลับมาจูบปากกันใหม่เมื่อวันเสาร์ (29 ก.พ.) บอกว่ารวบรวมเสียงข้างมากได้ แต่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งมูห์ยิดดินเป็นนายกฯ
ดึกวันเสาร์ ผู้ประท้วงราว 200 คนรวมตัวกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ คัดค้านการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชาธิบดี ตำรวจเผยว่า กำลังสอบสวนข้อความหนึ่งในทวิตเตอร์ ที่ชักชวนให้ประชาชนออกมาประท้วงซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
มูห์ยิดดินมาจากพรรคเบอร์ซาตูของมหาธีร์ แต่แสดงตัวว่าพร้อมทำงานกับพรรคอัมโน ที่แพ้เลือกตั้งเพราะอดีตนายกฯ นาจิบพัวพันกับคดีทุจริตฉาว “กองทุนวันเอ็มดีบี”
อย่างไรก็ตาม หลังพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งปี 2561 พรรคอัมโนก็ดีวันดีคืน แนวร่วมแห่งความหวัง (พีเอช) ของมหาธีร์กับอันวาร์ แพ้เลือกตั้งซ่อม 5 ครั้ง เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวมาเลย์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศจากประชากรทั้งหมด 32 ล้านคน วิจารณ์พีเอชว่าควรเอื้อประโยชน์ให้กับชาวมาเลย์ให้มากกว่านี้
สำหรับพรรคอัมโนตอนที่มหาธีร์เป็นผู้นำระหว่างปี 2524-2546 พรรคสนับสนุนนโยบายชาตินิยมมาเลย์
ปีเตอร์ มัมฟอร์ด จากบริษัทที่ปรึกษายูเรเซีย มองว่า รัฐบาลมูห์ยิดดินจะเป็นรัฐบาลส่งเสริมชาติพันธุ์มาเลย์อย่างชัดเจนมากขึ้น ใช้นโยบายการแบ่งแยกทางสังคม ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และเป็นไปได้ว่าใช้งบประมาณมากกว่าเดิม
รอยเตอร์ระบุด้วยว่า การเมืองมาเลเซียนอกจากใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว ยังถูกกำหนดด้วยเชื้อชาติ ศาสนา และผลประโยชน์ในพื้นที่ มาเลเซียมีชาติพันธุ์มาเลย์กว่าครึ่ง แต่ชาติพันธุ์จีนและอินเดียก็มีเป็นจำนวนมาก รวมถึงชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอื่นๆ
ส่วนการประชุมสภาที่มหาธีร์บอกว่า เขารวบรวมเสียงข้างมากได้นั้น โมฮัมหมัด อาริฟ โมห์ด ยูโซฟ ประธานสภากล่าววานนี้ว่า การประชุมสภาครั้งต่อไปอาจต้องเลื่อนออกไปจากวันที่ 9 มี.ค. โดยเขาจะประสานเรื่องวันประชุมใหม่กับสำนักนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (2 มี.ค.)