ส่องมาตรฐานญี่ปุ่น! 2 รมต.ลาออกเพราะแจก ‘แคนตาลูป-มันฝรั่ง’
ย้อนดูมาตรฐานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่า “หน้าบางมาก” สำหรับข้อกล่าวหาใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนทางการเมือง แม้เป็นเพียงการแจกผักและผลไม้ให้กับประชาชน เพราะถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว
ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว รัฐมนตรี 2 คนในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ลาออกจากตำแหน่งในสัปดาห์เดียวกัน หลังทั้งคู่นั่งเป็นเจ้ากระทรวงได้ไม่ถึง 2 เดือนเท่านั้น เหตุผลที่พวกเขาลาออกเนื่องจากเผชิญกรณีอื้อฉาวจากการแจกของให้กับประชาชน ซึ่งในทางกฎหมายของญี่ปุ่น ถือว่าเข้าข่ายมีความผิดฐาน “ซื้อเสียง”
คนแรกคือ “อิสชู ซูกาวาระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ที่ถูกกล่าวหาว่าแจก “แคนตาลูปและปู” ซึ่งเป็นของราคาแพงในญี่ปุ่น ให้กับประชาชน และเลขาฯส่วนตัวมอบเงินปลอบใจจำนวน 20,000 เยน (ประมาณ 180 ดอลลาร์) ให้กับผู้เสียชีวิตในครอบครัวของผู้สนับสนุนในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของตน เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ก่อนจะลาออกในวันที่ 24 ต.ค.
ซูกาวาระ วัย 57 ปี เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่น ท่ามกลางความขัดแย้งระดับทวิภาคีกับเกาหลีใต้ในประเด็นการควบคุมการส่งออกที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นของทางการญี่ปุ่น
- อิสชู ซูกาวาระ อดีต รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น -
นอกจากนี้ มีรายงานว่าสำนักงานของซูกาวาระส่งดอกไม้จันทน์ให้กับผู้เสียชีวิตในครอบครัวของผู้สนับสนุนอีกหลายครั้งในปีที่แล้ว
แม้ซากาวาระยืนยันว่า เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่อยากให้ปัญหาของตัวเองทำให้กระบวนการรัฐสภาต้องช้าลง
คล้อยหลังการลาออกของรัฐมนตรีกระทรวงการค้าเพียง 6 วัน “คัตสึยูกิ คาวาอิ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ลาออกจากตำแหน่งอีกคน หลังมีรายงานว่าเขาแจก "ข้าวโพดและมันฝรั่ง" ให้กับประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนที่จ.ฮิโรชิมา
นอกจากนั้นยังเป็นแสดงความรับผิดชอบต่อการที่ภรรยาของเขา คือ อันริ คาวาอิ ซึ่งเป็น ส.ส.สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล กระทำการละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนให้กับทีมงานหาเสียงกว่า 30,000 เยน หรือมากกว่าที่กฎหมายอนุญาต 2 เท่า (ราวไม่เกิน 15,000 เยนต่อวัน)
- คัตสึยูกิ คาวาอิ อดีตรมว.กระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น -
ถึงแม้คาวาอิไม่ได้กล่าวยอมรับหรือปฏิเสธรายงานของสื่อ แต่บอกว่า การตัดสินใจลาออกก็เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม (ซึ่งเขากำกับดูแลด้านนี้อยู่ด้วยในตอนนั้น) และเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล
เมื่อไปดูตัวบทกฎหมายการเลือกตั้งของญี่ปุ่น ระบุชัดเจนว่า ห้ามนักการเมืองรับ “ของขวัญ” จากประชาชน และ “มอบสิ่งของ” ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม และสิ่งของนั้นรวมถึงเงินด้วย ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนอาจต้องชำระค่าปรับสูงถึง 500,000 เยน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอาเบะ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ออกมาขอโทษประชาชนหลังการลาออกของทั้งคู่ พร้อมกล่าวในขณะนั้นว่า เป็นความผิดพลาดและความรับผิดชอบของเขาด้วย เนื่องจากรัฐมนตรีทุกคนล้วนมาจากการคัดเลือกด้วยตัวเขาเอง