เมื่อสายการบินเอเชีย ดำดิ่งสู่ห้วงมหันตภัย 'โควิด-19'
ภาวะการระบาดหนักทั่วโลกของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ปิดช่องทางทำเงินของสายการบินในเอเชียทุกแห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนของสายการบินแต่ละแห่ง
รายที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่งพอ อาจเลือกถอนตัวจากธุรกิจนี้ ส่วนรายที่มีสายป่านยาว ก็อาจกัดฟันฝ่าห้วงมหันตภัยนี้ไปได้
วิบากรรมนี้ ไม่ได้เกิดกับสายการบินในเอเชียเท่านั้น สายการบินทั่วโลกก็บอบช้ำกันถ้วนหน้า ล่าสุด สมาคมสายการบินแห่งอเมริกา ออกแถลงการณ์เตือนว่า สายการบินพาณิชย์หลัก ๆ ของสหรัฐ อาจขาดเงินหมุนเวียนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งเตือนว่า ถ้ารัฐบาลมีคำสั่งห้ามการเดินทางภายในประเทศเป็นเวลา 30 วัน มาตรการดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้สายการบินในอเมริกาเสียรายได้เพิ่มอีก 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์
แม้แต่แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินของยุโรป ยังจัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะชะลอ หรือยุติการผลิตเครื่องบินแอร์บัสหากฝรั่งเศสตกอยู่ใต้สถานการณ์ล็อคดาวน์ยาวนาน ขณะที่สายการบินต่าง ๆ ของจีน อย่างแอร์ ไชนา ไชนา เซาธ์เทิร์น แอร์ไลน์ และไชนา อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส์ ก็เตรียมจะลดเที่ยวบินไปต่างประเทศลง
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลจีนตำหนิหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ ที่ประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปจีน แต่ขณะนี้จีน เริ่มหันมาพิจารณาจำกัดเที่ยวบินไปต่างประเทศเช่นกัน หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นชาวต่างชาติมีมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเอง
ปีเตอร์ เอลเบอร์ส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสายการบินแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ชื่อ เคแอลเอ็ม เตรียมปลดพนักงานมากถึง 2,000 คน และให้พนักงานที่ยังเหลืออยู่ลดเวลาทำงานลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
ซีอีโอของเคแอลเอ็มรายนี้ บอกว่า ช่วงเวลาที่จะปลดพนักงานออกนั้นไม่ใช่แค่ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเท่านั้น แต่จะทยอยปลดไปเรื่อยๆ ในอีกหลายเดือนต่อจากนี้ด้วย ส่วนพนักงานที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ยังรวมถึงพนักงานพาร์ทไทม์ และผู้ที่สมัครใจอยากกจะเกษียณอายุทำงานก่อนกำหนด
นอกจากนี้ นายเอลเบอร์ส ยังระบุว่า ฝูงบินโบอิง 747 ของสายการบินทั้ง 6 ลำ จะงดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
อุตสาหกรรมการบินเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลร้ายจากโรคโควิด-19 อย่างมาก เพราะนอกจากคนจำนวนมากทั่วโลกต่างระมัดระวังการเดินทางมากขึ้นแล้ว รัฐบาลหลายประเทศยังสั่งจำกัดการเดินทางของประชาชนและห้ามให้เที่ยวบินจากต่างประเทศมาลงจอดยังสนามบินในประเทศตัวเอง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังลุกลามจนองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลก
สายการบินที่รับผลกระทบหนักสุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นสายการบินที่พึ่งพาผู้โดยสารชาวจีนเป็นหลัก เช่น สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ส ของฮ่องกง แอร์เอเชีย กรุ๊ป ของมาเลเซีย สายการบินสกู๊ต ของสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ และสายการบินการูดา ของอินโดนีเซีย
“ตอนนี้มีความหวังน้อยมากในการทำเงินจากอุตสาหกรรมการบินและบริษัทขนาดเล็กในธุรกิจเดินทางรวมทั้งธุรกิจการให้บริการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจไม่มีสายป่านที่ยาวพอจะอยู่ต่อไปในธุรกิจ” ปีเตอร์ ฮาร์ไบซัน ประธานคาปา (CAPA) บริษัทวิจัยด้านธุรกิจการบินพลเรือน ให้ความเห็น
ข้อมูลของคาปา บ่งชี้ว่า จำนวนที่นั่งในเที่ยวบินระหว่างประเทศของจีนลดลงเกือบ 80% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนที่นั่งในเที่ยวบินภายในประเทศก็ลดลงเกือบ 60% ในจำนวนนี้ รวมถึงที่นั่งของสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ที่ร่วงลงอย่างหนักจาก 1.75 ล้านที่นั่งเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว เหลือประมาณ 1.35 ล้านที่นั่งในขณะนี้
สายการบินแควนตัส ซึ่งมีฐานอยู่ในออสเตรเลีย ประกาศเมื่อวันอังคาร (17 มี.ค.) ว่า จะลดขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 90% ไปจนถึงช่วงปลายเดือน พ.ค. และลดเที่ยวบินในประเทศ 60% พร้อมทั้งจอดฝูงบิน 150 ลำ เช่นเดียวกับสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ที่ระงับ หรือลดเที่ยวบินในเส้นทางบินทั่วโลก 80% ถึงปลายเดือน พ.ค. และช่วงเดือน ก.พ. ผู้โดยสารที่ใช้บริการลดลงมากถึง 22%
สายการบินโคเรียน แอร์ไลน์ระงับเที่ยวบินกว่า 80% ช่วงเดือนก.พ.ผู้โดยสารลดลงเหลือ 1.4 ล้านคนจาก 2.4 ล้านคนในเดือน ม.ค. สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (เอเอ็นเอ) ลดเที่ยวบินระหว่างประเทศ 80% ตั้งแต่ปลายมี.ค.-เม.ย. ส่วนการจองตั๋วเที่ยวบินระหว่างประเทศในเดือน มี.ค. ลด 60%
สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก เจอปัญหาผู้โดยสารเดือน ก.พ. ลด 64% สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ลดเที่ยวบิน 2,000 เที่ยวบินจนถึงเดือน เม.ย. พร้อมทั้งเตือนว่าบริษัทใกล้ล้มละลาย ขณะที่ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ลดเที่ยวบิน 125 เที่ยวบินจนถึงเดือน เม.ย. และเตรียมยกเลิกเที่ยวบินระว่างประเทศ 57 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 20 มี.ค.
สายการบินไชน่า แอร์ไลน์ ลดเกือบ 3,000 เที่ยวบินในเดือน มี.ค. เดือน เม.ย. ลดเที่ยวบิน 2,100 เที่ยวบิน การบินไทย จอดฝูงบิน 12 ลำ หรือประมาณ 10% ของฝูงบินที่มีอยู่ทั้งหมดเตรียมลดเที่ยวบิน 20% ในเดือน มี.ค. เม.ย. และ พ.ค. แอร์ นิวซีแลนด์ ลดเที่ยวบินระยะไกล 85% จนถึงปลายเดือน มี.ค. ลดเที่ยวบินไปออสเตรเลีย ประมาณ 80% และเวียดนาม แอร์ไลน์จอดเครื่องบิน 50% ของฝูงบินทั้งหมดที่มีอยู่ 100 ลำ