จุดเปลี่ยนที่ทำให้โควิด.. วิกฤติกว่าเคย?
เปิดจุดเปลี่ยนอะไรบ้าง ที่ทำให้โควิด-19 เป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่าเคย (วิกฤติซับไพรม์) ทำไมตลาดจึงมองว่าโอกาสโควิด-19 จะเลวร้ายต่อมีโอกาสสูงมาก วันนี้เราจึงต้องเริ่มนับหนึ่งกับวิกฤติโควิด-19 แบบที่ผู้แก้ไขปัญหาให้เรานั้นดูจะเก่งน้อยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ก่อนอื่น ผมขอบอกว่า บทความนี้เป็นภาคที่ไว้ อ่านก่อนบทความเมื่อ สัปดาห์ที่แล้วว่าด้วย เบื้องหลังของการเกิดวิกฤติโควิด-19 และ เหตุใดถึงดูแล้วจะเป็นวิกฤติที่แรงกว่า ครั้งก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ถ้าจะเปรียบเป็นภาพยนตร์ ผมมองว่า วิกฤติซับไพร์ม ปี 2008 เหมือนหนังแอ็คชั่น ฮอลลีวู้ดที่มีไคล์แมกซ์ให้ลุ้นกันแบบ ไม่ให้กระพริบตาในช่วงเวลาค่อนข้าง สั้นระหว่างเดือนก.ย.2008 ถึงมี.ค.2009 จากนั้นก็มาสู้กับปัญหาอัตราการว่างงาน ที่สูงกว่า 10% ต่ออีก 3-4 ปี ทว่าวิกฤติ โควิด-19 เหมือนหนังเกาหลี อย่าง Train to Busan ที่จะมีซอมบี้มาคอยหลอก หลอนตลอดเรื่อง ซึ่งผมมองว่าวิกฤติรอบนี้ น่าจะลากยาวกว่าซับไพร์ม เนื่องจากปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดคือการค้นพบวัคซีน ที่จะรักษา ซึ่งน่าจะใช้เวลาในการค้นพบไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ผมมองว่า มี 3 จุดเปลี่ยนที่ทำให้โควิด-19 เป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่าเคย ดังนี้
จุดเปลี่ยนแรกคือ ตอนโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีกว่าที่แล้ว เผอิญไปตัดงบของหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อของอเมริกา (U.S. CDC) ตัดงบจนเกือบหมด ทำให้ความสามารถของหน่วยงาน U.S. CDC หมดไปพร้อมกับงบที่หายไปตั้งแต่ 3 ปีกว่าที่แล้ว ผมมองว่าตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งทรัมป์ก็เข้าใจเกม เลย โยนเผือกร้อนให้กับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ มาคุมเรื่องนี้แทน
ทั้งนี้ การที่ทรัมป์ไม่มั่นใจว่าจะคุมโควิด-19 ได้ไหม เพราะหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งด้านการป้องกันหรือช่วยเหลือของโควิด-19 หรือโรคอื่นๆ ของอเมริกา ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง โดยมีอันดับด้านการต่อสู้กับวิกฤติทางด้านโรคระบาดอันดับที่ 20 กว่าของโลก ส่งผลต่อโอกาสของสหรัฐในการคุมโควิด-19 จึงไม่ดีพอ ทำให้ตลาดหุ้น wall street กังวลเรื่องนี้มาก
อีกประเด็นคือสมัยของบารัค โอบามา นั้น ให้การสนับสนุนรัฐมนตรีคลังในยุคนั้น ทิม ไกธ์เนอร์ แต่รัฐมนตรีคลังในยุคนี้ สตีเวน มนูชิน ดูเป็นสไตล์ตามนักการเมือง คือเดินตามทรัมป์เป็นหลัก ความแข็งแกร่งในแง่ของการเยียวยาแก้ปัญหาต่างกัน อย่างไกธ์เนอร์ ดูแล้วเขามั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ด้านมนูชินนั้น ผมมองว่าเขาจะเดินเกมเพื่อให้ทรัมป์พอใจมากกว่า อันนี้ต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นสไตล์การเมืองนำมากกว่ายุคก่อน
จุดที่ 2 คือ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เก่งเท่ากับเบน เบอร์นันเก้ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วหรือเปล่า? ในการรับมือรอบนี้ ตลาดก็ยังมีความสงสัยอยู่ แต่ที่แน่ๆ คือความมั่นใจของตลาดต่อ ตัวพาวเวลต่ำกว่าเบอร์นันเก้มาก จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าตลาดตอบรับในเชิงลบ ทั้งในวันที่พาวเวลลดดอกเบี้ย 0.5% และในวันที่ลดดอกเบี้ยจนเหลือ 0-0.25% พร้อมทำ QE 7 แสนล้านดอลลาร์ ผมมองว่า ทางพาวเวลตอบคำถามสื่อมวลชนได้ไม่ดีเท่าไหร่ คือ ไม่สร้างความมั่นใจเหมือนสมัยเบอร์นันเก้ที่เขาแม่นเรื่องเศรษฐศาสตร์มาก สามารถตอบได้ แต่พาวเวลตอบสั้นๆ และดูไม่ขลัง ตลาดเลยกังวลถึงความสามารถของพาวเวล ในการจัดการเรื่องนี้
โดย 2 ประเด็นหลักที่มีผลจากผู้ทรง อิทธิพลของอเมริกา ทั้งทรัมป์และพาวเวลดังกล่าว ตลาดจึงมองว่าโอกาสโควิด-19 จะเลวร้ายต่อมีโอกาสสูงมาก ตรงนี้ถือเป็น จุดเปลี่ยนของงานนี้
ข้ามมาฟากยุโรป ก็มีปัญหาคล้ายอเมริกา คือการระบาดลุกลามทั้งอิตาลี สเปน และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ด้วยความที่ยุโรปไม่มีผู้นำอย่างเมื่อก่อน ที่มีอังเจลา แมร์เคิล ของเยอรมัน ที่ตอนนั้นมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เป็นโต้โผ ตอนนี้ยุโรปไม่มีคนที่ทรงอิทธิพล ที่มีความแข็งแกร่งที่จะพูดให้ทุกคนมั่นใจในมุมการเมืองและนโยบายการคลัง
อีกประเด็นหลักคือ โชคร้ายในตอนนี้ที่เมื่อมาริโอ ดาร์กี พ้นตำแหน่งประธาน ECB ในจังหวะที่ต้องการตัวเขามากที่สุด ส่วนคริสติน ลาการ์ด เพิ่งมารับตำแหน่งประธาน ECB แทนเมื่อกว่า 3 เดือนที่แล้ว ซึ่งเธอยังใหม่กับตำแหน่งนี้ และลาการ์ดเองก็ยังไม่ชำนาญการร่ายมนต์ให้ตลาดเชื่อ จึงเป็นจุดอ่อนของยุโรปเข้าไปอีก
ปัญหาของยุโรปและอเมริกาคล้ายๆ กัน คือผู้ทรงอิทธิพลฝั่งการเมือง การคลัง และนโยบายการเงิน ไม่ได้มือเก๋าเหมือนสมัย 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเบอร์นันเก้กับดาร์กี คือที่สุดของผู้ดูแลนโยบายการเงินในยุค 10 ปีให้หลัง
วันนี้พาวเวลอาจจะดูดีกว่าฝั่ง ECB ทว่าวิกฤติในวันนี้เป็นโจทย์ที่ยากกว่าสมัย 10 ปีที่แล้วอีก เพราะสมัย 10 ปีที่แล้วมันจบที่การเยียวยาตัวสภาพคล่องจากวิกฤติ ซับไพรม์ คือ สามารถจบที่ 4-5 เดือนแรก
ประเด็นสุดท้ายคือ ปัญหาครั้งนี้ไม่เหมือนในยุค 1930 คือไม่มีการลงทุน ไม่มีการบริโภคที่เพียงพอ การอัดนโยบายและการเงินเพียงเล็กน้อย ปัญหาเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ใช้เวลาแก้ไขนาน แต่ปัญหาก็ไม่ได้ยุ่งยาก คือเป็นลักษณะการขาดปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มันน้อยเกินไป และรวมถึงหุ้นดาวโจนส์ในยุคนั้นก็ตกต่ำ จริงๆ ปัญหาเรื่องอุปสงค์ ถ้าได้ยาดี ลำพังเฟดก็สามารถแก้ได้แล้ว แต่วิกฤติซับไพร์มเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นลักษณะผสมกันระหว่างความเสี่ยง สภาพ คล่อง เครดิต และสถาบันการเงินที่ล้ม ซึ่งเมื่อล้มไป กฎหมายที่ออกมาเพื่ออุ้มแบงก์อื่น ก็สามารถบรรเทาวิกฤติได้ แต่ความรุนแรงวิกฤติช่วง 10 ปีที่แล้วมันรุนแรงกว่าตอนนี้ ในช่วงจุดสูงสุดของวิกฤติ
ข้อเสียของวิกฤติตอนนี้คือ หาจุดจบยาก เพราะเฟดไม่ใช่พระเอกคนเดียวที่จะมาแก้ปัญหา เพราะปัญหานี้เป็นลักษณะของตัวอุปทานที่มันหายไปจากคนทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ประชาชนทั่วไปไม่อยากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะอเมริกาจะมีปัญหาด้านบริการ ถ้าคนอเมริกาไม่ออกมาใช้บริการ ตัวเศรษฐกิจอเมริกาไปต่อยากมาก รวมถึงยุโรป คนก็ผวาคือไม่อยากออกมาทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ
โดยสรุปคือ เราต้องเริ่มนับหนึ่งกับวิกฤติโควิด-19 แบบที่ผู้แก้ไขปัญหาให้เรานั้นดูจะเก่งน้อยกว่ายุค 10 ปีก่อนครับ