บริษัทเทคโนโลยีจีน 'รายได้ฉลุย' สวนทางขาลงทางธุรกิจ

บริษัทเทคโนโลยีจีน 'รายได้ฉลุย' สวนทางขาลงทางธุรกิจ

"เทนเซ็นต์" และบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนรายอื่น ๆ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางภาวะขาลงของราคาหุ้นบริษัทในภูมิภาค

มีบริษัทชั้นนำของเอเชียมากถึง 87% สูญเสียมูลค่าทางการตลาดในไตรมาส 1 ของปีนี้ และธนาคารสัญชาติอินเดียเป็นกลุ่มธุรกิจที่สูญเสียมูลค่าทางการตลาดมากที่สุด

ขณะนี้บรรดานักลงทุนต่างวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวร่วงลงกันถ้วนหน้า กำลังกดดันให้มูลค่าทางการตลาดของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาคหายไป 10% หรือมากกว่านั้น รวมถึงบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ชนะในเกมนี้ ซึ่งก็คือบรรดาบริษัทสัญชาติจีน โดยเฉพาะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชื่อดังของจีนอย่าง เทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ และบรรดาบริษัทผลิตยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะความต้องการยา ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์พุ่งกระฉูดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นับถึงช่วงเช้าของวานนี้ (2 เม.ย.) ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงเมื่อวันพุธ (1 เม.ย.) โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีดิ่งลงกว่า 4% หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตือนชาวอเมริกันให้เตรียมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งถ้อยแถลงนี้สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ 17,934.42 จุด ลดลง 130.99 จุด, -0.73% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดที่ 2,720.23 จุด ลดลง 14.29 จุด, -0.52% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ 22,838.67 จุด ลดลง 247.12 จุด, -1.07% 

ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดที่ 1,693.53 จุด เพิ่มขึ้น 8.07 จุด, +0.48% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดที่ 2,402.43 จุด ลดลง 37.84 จุด, -1.55% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดที่ 1,320.62 จุด ลดลง 2.04 จุด, -0.15%

“ช่วงไตรมาสแรกบริษัทชั้นนำหลายแห่งในเอเชียจะมีผลประกอบการและผลกำไรไม่เป็นไปตามเป้า เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดนี้จะจบลงเมื่อใด” ชีตัน เซธ นักวิเคราะห์จากโนมูระ ให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี เซธก็ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดหุ้นจีนค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้คนพากันอยู่บ้านและจำเป็นต้องใช้บริการคลาวด์ รวมทั้งการบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์มากขึ้น

“ควิก-แฟคเซ็ท” ระบุว่า บริษัท 63 แห่งจาก 502 แห่งที่มีมูลค่าทางการตลาด 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น นับจนถึงปลายเดือนธ.ค.มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วง3เดือนนับจนถึงเดือนมี.ค. ส่วนบริษัทที่เหลือมูลค่าทางการตลาดลดลง

158590366643

นอกจากนี้ ในบรรดา 19 บริษัทในเอเชียที่มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ เทนเซ็นต์ เป็นบริษัทเพียงรายเดียวที่ยังคงมูลค่าทางการตลาดไว้ได้ โดยบริษัทให้บริการเกมทางออนไลน์และให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น 0.3% ยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ของสิงคโปร์ ระบุเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ว่า การใช้เวลาทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19   

ในบรรดา 502 บริษัท เป่ยจิง คิงซอฟต์ ออฟฟิศ ซอฟต์แวร์อยู่ในกลุ่มผู้ชนะ โดยมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น 34.2% ผู้ใช้งานจริง ๆ รายเดือนของดับบลิวพีเอส ออฟฟิศ เพิ่มขึ้นเป็น 239 ล้านนับจนถึงวันที่ 2 มี.ค. เทียบกับ 67 ล้านคนเมื่อปลายปี 2562

“การใช้งานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความต้องการของตลาดและบ่งชี้ถึงแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตได้อย่างดี” แถลงการณ์ของบริษัทดับบลิวพีเอส ออฟฟิศ ระบุ

บรรดานักลงทุนมองเห็นสัญญาณความต้องการเรียนหนังสือทางออนไลน์ทะยาน ทำให้มูลค่าทางการตลาดของบริษัทออฟซีเอ็น เอดูเคชัน เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการศึกษา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% โดยบริษัทแห่งนี้ ซึ่งจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้น เสนอทั้งการเรียนทางออนไลน์และออฟไลน์แก่สถานที่ต่างๆทั่วประเทศ 1,000 แห่ง ซึ่งนับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 ยอดผู้สมัครเรียนทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ขณะที่ธุรกิจให้บริการด้านการดูแลสุขภาพทางออนไลน์ก็ขยายตัวเช่นกัน โดยอาลีบาบา เฮลท์ อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี หน่วยงานในเครือบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง ถือเป็นผู้ชนะรายใหญ่สุดอันดับ 3 ในบรรดาบริษัท 502 แห่ง เพราะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น 42.3% โดยบริษัทบริหารแพลทฟอร์มทางออนไลน์แห่งนี้ทำหน้าที่ทั้งขายยา วินิจฉัยโรคแก่ผู้ป่วย และเขียนใบสั่งยา ราคาหุ้นของบริษัททะยานขึ้นทันทีหลังจากรัฐบาลจีนสั่งขยายการดูแลสุขภาพทั่วประเทศให้ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์ทางออนไลน์ด้วยตั้งแต่ช่วงต้น มี.ค.

บรรดาผู้ผลิตยาทั้งหลายต่างได้อานิสงส์ไปตาม ๆ กัน เช่น บริษัทเสิ่นเจิ้น ไมด์เรย์ ไบโอ-เมดิคัล อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ มูลค่าทางการตลาดทะยาน 42.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการจากตลาดต่างประเทศพุ่งตามไปด้วย