นวัตกรรมเกาหลีใต้สู้ภัย Covid-19 ได้อย่างไร
ส่องศักยภาพประเทศเกาหลีใต้ในการแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่านำเอานวัตกรรมอะไรมาใช้ จนทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศหนึ่งในการจัดการวิกฤติครั้งนี้
ปัญหาและข้อจำกัดล้วนเป็นโอกาสในการก่อเกิดนวัตกรรม ภายใต้สถานการณ์วิกฤติการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤติใหญ่ของโลก เราจะเห็นแนวทางการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาของประเทศต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก
ประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในการจัดการวิกฤติครั้งนี้คือ เกาหลีใต้ ซึ่งสามารถชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้ยังอยู่ภายใต้ศักยภาพรองรับระบบสาธารณสุขของประเทศในปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดขึ้นไปอย่างเช่นหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา
หัวใจหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดจากการใช้นวัตกรรมบริการประชาชนที่เข้ามาร่วมจัดการวิกฤติครั้งนี้ โดยผู้เขียนเห็นว่ามีอย่างน้อย 3 นวัตกรรมเพื่อบริการประชาชนที่น่าสนใจ
1.การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินให้กับประชาชนรายพื้นที่ (Area-based Emergency Alerts) ในช่วงวิกฤติ การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในมุมมองของประชาชน ล้วนต้องการทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสที่มีบริบทของพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การสื่อสารที่ดีจึงต้องสอดคล้องกับพื้นที่แต่ละแห่งด้วยเช่นกัน
การจัดการกับวิกฤติของเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเปิดเผยข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก COVID-19 ซึ่งประกอบไปด้วยการสรุปสถานการณ์ประจำวันจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KCDC) ผ่านสื่อสารมวลชนและการให้ข้อมูลเฉพาะรายพื้นที่ผ่านข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินทางโทรศัพท์ เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น
การแจ้งเตือนฉุกเฉินนี้ใช้ระบบ Cell Broadcasting Service (CBS) โดยชาวเกาหลีจะได้รับข้อมูลอัพเดทการระบาดของ COVID-19 ล่าสุดที่ตรงเฉพาะกับพื้นที่ตำแหน่งที่อยู่ของตน โดยหน่วยงานรัฐจะให้ข้อมูลตามเวลาจริง ในกรณีที่ได้รับการยืนยันผู้ป่วยในแต่ละเมือง รวมถึงเส้นทางการเดินทางของผู้ป่วยผ่านระบบการแจ้งเตือนฉุกเฉินที่มีสถานีอยู่ทุกแห่ง
ระบบแจ้งเตือนดังกล่าว เกาหลีใต้เคยใช้ในการแจ้งเตือนฉุกเฉินเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีการระบาดของ COVID-19 ได้ดีเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยควรพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในเหตุการณ์นี้และในกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต
2.แผนที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City Map) กรุงโซลของเกาหลีใต้ได้พัฒนาเว็บไซต์ข้อมูลแบบเปิดมานานและมีชื่อเสียงในเรื่องนโยบายการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ
ในกรณี COVID-19 เว็บไซต์ของรัฐบาลกรุงโซลได้เร่งพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน (www.seoul.go.kr/coronaV/coronaStatus.do) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันล่าสุด รวมถึงอายุ เพศ วันที่ยืนยันการติดเชื้อ สถานที่ ถิ่นที่อยู่ พร้อมด้วยข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางหรือจุดติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยได้เดินทางไปที่ไหน เวลาใดบ้าง รวมถึงเปิดเผยชื่อร้านอาหารและร้านค้า พร้อมกับบอกเวลาที่แน่นอนในการเข้าไปใช้บริการ หรือแม้แต่หมายเลขที่นั่งในโรงภาพยนตร์
ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ประชาชนนำไปใช้ประกอบการดำเนินชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง นอกจากนี้ เพื่อการบรรเทาผลข้างเคียงที่มีต่อธุรกิจ เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ผู้ป่วยไป แม้หลังจากการฆ่าเชื้อโรคแล้ว หน่วยงานรัฐจึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับคลีนิกทดสอบที่ใกล้ที่สุดและข้อมูลเขตปลอดภัย (Clean Zones) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกฆ่าเชื้อหลังการไปของผู้ป่วย เพื่อบรรเทาความกลัวของประชาชนและส่งเสริมธุรกิจให้อยู่ได้ต่อไป
ในเว็บไซต์ ประชาชนสามารถเรียกใช้การค้นหา “โซนปลอดภัย” (Clean Zones) บนแผนที่อัจฉริยะได้ ตามเขตและประเภทบริการ รวมถึงโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด โบสถ์ ศูนย์ชุมชน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์สวัสดิการสังคมและอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกเดินทางไปเฉพาะในสถานที่ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังแสดงความถี่ในการฆ่าเชื้อโรคในแต่ละสถานที่ด้วย
3.ศูนย์ทดสอบเชื้อไวรัสแบบไดรฟ์ทรู (Drive-Thru testing facility) และแบบตู้โทรศัพท์ (Phone Booths testing facility) เกาหลีใต้ได้พัฒนาวิธีการทดสอบ COVID-19 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ผ่านสถานีทดสอบผ่านไดรฟ์ทรูประมาณ 85 แห่ง (ณ วันที่ 19 มี.ค.2563) โดยการตรวจสอบอาการและการเก็บตัวอย่างทำได้ในจุดเดียวภายใน 10 นาที ผลการทดสอบสามารถออกมาภายใน 3 วัน แล้วถูกส่งไปยังผู้ทดสอบทาง SMS
นอกจากนี้ โรงพยาบาลเกาหลีใต้ยังได้พัฒนานวัตกรรมศูนย์ทดสอบเชื้อไวรัสรูปแบบตู้โทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถตรวจสอบผู้ป่วยจากด้านหลังแผงพลาสติกซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดในการติดตามการติดเชื้อของประเทศ โดยตู้ดังกล่าวจะมีแรงดันอากาศติดลบ ผู้ป่วยแต่ละคนก้าวเข้าไปในกล่องเพื่อขอคำปรึกษาอย่างรวดเร็วผ่านอินเตอร์คอม สามารถเก็บตัวอย่างจากจมูกและลำคอโดยใช้ถุงมือยาง กระบวนการใช้เวลา 7 นาที จากนั้นบูธจะถูกฆ่าเชื้อและระบายอากาศ ซึ่งทำให้การทดสอบเชื้อมีประสิทธิภาพสูงมาก รวมทั้งประหยัดอุปกรณ์ป้องกันตนเองของแพทย์
เราจะเห็นได้ว่าการสร้างนวัตกรรมโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เปิดข้อมูลให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐและประชาชนในสถานการณ์วิกฤติ และจะเป็นจุดคานงัดหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศสามารถรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการบริหารวิกฤตินี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด