'เทคโนโลยีเสียง' มาแรงยุคโควิด-19
ระบบสั่งการด้วยเสียงไม่เพียงแค่ตอบข้อซักถามหรือช่วยเรื่องการช้อปปิ้ง แต่ยังใช้สำหรับควบคุมบ้านอัจฉริยะ (สมาร์ทโฮม) และธุรกิจนานัปการไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผู้คนจึงอาจสนใจระบบนี้มากขึ้นเพื่อลดการสัมผัส
ในโลกที่จู่ๆ ผู้คนก็กลัวการสัมผัสขึ้นมาอย่างกะทันหัน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สาเหตุของโรคโควิด-19 เทคโนโลยีเสียงจึงเป็นทางออกที่ดี เหล่านักวิเคราะห์มองว่าระบบสั่งการด้วยเสียง เช่น กูเกิลแอสซิสแทนท์, อะเมซอน อเล็กซา และซีรีของแอ๊ปเปิ้ล เติบโตรวดเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีหลัง ยิ่งได้ไวรัสมาช่วยก็ส่อแววโตรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ระบบสั่งการด้วยเสียงไม่เพียงแค่ตอบข้อซักถามหรือช่วยเรื่องการช้อปปิ้ง แต่ยังใช้สำหรับควบคุมบ้านอัจฉริยะ (สมาร์ทโฮม) และธุรกิจนานัปการไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผู้คนจึงอาจสนใจระบบนี้มากขึ้นเพื่อลดการสัมผัส
"เสียงมีบทบาทสำคัญมากในพื้นที่สมาร์ทโฮม และการสั่งการด้วยเสียงช่วยหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวรอบบ้านได้ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรีโมททีวี สวิตช์ไฟ เครื่องควบคุมความร้อน ราวประตู และอื่นๆ การแพร่ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มแรงจูงใจและแรงกระตุ้นให้นำระบบเสียงมาใช้ในบ้าน ที่จะช่วยเพิ่มการตระหนักรู้แล้วใช้เครื่องมืออัจฉริยะทั้งหลายในที่อยู่อาศัย" โจนาทาน คอลลินส์ นักวิเคราะห์จากเอบีไออาร์รีเสิร์ชกล่าว
เอบีไอประเมินว่า ยอดส่งมอบอุปกรณ์ควบคุมด้วยเสียงสำหรับเครื่องใช้สมาร์ทโฮมในปี 2562 ทะลุ 141 ล้านเครื่อง ส่วนปีนี้ทั่วโลกโตขึ้นเกือบ 30%
ส่วนตลาดระบบสั่งการด้วยเสียง จูปิเตอร์รีเสิร์ชประเมินว่า ปีนี้มีการใช้เครื่องมือ 4.2 พันล้านเครื่อง และจะเติบโตเป็น 8.4 พันล้านเครื่องภายในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นการสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน
คอลลินส์คาดว่าความสนใจในสมาร์ทล็อกและกริ่งประตู รวมถึงระบบสมาร์ทโฟนอื่นๆ จะเติบโตต่อเนื่อง เพื่อลดความจำเป็นในการสัมผัสและการพบหน้าค่าตากันอันเป็นผลพวงมาจากโรคระบาด
อาวี กรีนการ์ต นักวิเคราะห์และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจากบริษัทเทคโพเนนเชียล เผยว่า แม้ข้อมูลยังไม่พร้อม แต่การสั่งการด้วยเสียงกำลังมา สืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ เขามองว่า ธุรกิจจะใช้เทคโนโลยีเสียงกันอย่างกว้างขวาง ตอบรับความกังวลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย
“ในอนาคตพื้นที่สำนักงานจำเป็นต้องใช้การควบคุมแบบไร้สัมผัสมากขึ้น เสียงจึงเป็นคำตอบแม้ว่าการเปิดปิดไฟด้วยการเคลื่อนไหวจะง่ายและราบรื่นกว่า อย่างไรก็ตามผมมองว่าโรงแรมและอาคารเช่าทั้งหลายจะใช้ลำโพงอัจฉริยะกันดาษดื่น เพราะยิ่งสัมผัสน้อยลงก็ยิ่งดีกว่า” กรีนการ์ตให้ความเห็น
แล้วโรคหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร จูเลียน อิสซา จากบริษัทฟิวเจอร์ซอร์ส คอนซัลติง มองว่า ตั้งแต่ไวรัสระบาดการใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงกำลังมาแรง เขาเชื่อว่าการหลีกเลี่ยงสัมผัสพื้นผิวอาจเป็นแค่เหตุผลเล็กๆ เหตุผลหลักคือผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บ้านและใช้เครื่องมือมากขึ้น
ด้านคริส เพนเนลล์ นักวิเคราะห์อีกคนจากฟิวเจอร์ซอร์ส คาดว่า การยอมรับระบบดิจิทัลเร่งตัวขึ้น “โดยเฉพาะลูกค้าในสายดูแลสุขภาพ ค้าปลีก และบันเทิง” เช่น เครื่องมือของคลินิกเมโยใช้อะเมซอน อเล็กซา เปิดช่องให้ผู้คนประเมินอาการของตนเองได้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านไวรัส
ขณะที่อุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ก็ทำงานด้วยเทคโนโลยีเสียงเช่นเดียวกัน เวทอน เคปุสกา อาจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากฟลอริดาเทค ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีรับรู้ด้วยคำพูด พยายามพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ทำงานด้วยเสียงที่ช่วยจำกัดการสัมผัสทางกายภาพและการระบาด เขาเชื่อว่าถ้ามีเทคโนโลยีนี้ชีวิตผู้คนจะดีขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เคปุสกาต้องหาทุนมาทำวิจัย ที่จะทำให้เกิดหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ทางการแพทย์ ทำหน้าที่หลายๆ อย่างแทนหมอและพยาบาลสั่งการด้วยระบบเสียง
“การแพร่ระบาดได้สร้างสถานการณ์ที่จำเป็นต้องคิดว่าจะให้บริการผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราได้อย่างไร โดยที่ตัวเราก็ไม่เสี่ยง” เคปุสกากล่าวโดยสรุป