'สังคมสวมหน้ากาก' เอื้อประโยชน์อาชญากร?
“วิถีปกติใหม่” หรือ “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่กำลังเป็นรูปแบบการปฏิบัติตัวของผู้คนทั่วโลกที่เผชิญภาวะวิกฤติสาธารณสุขครั้งใหญ่สุด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แม้เป็นเรื่องดีที่ควรทำเพื่อสุขอนามัย แต่อาจไปเข้าทางเหล่าอาชญากรได้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การสวมหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าเปิดช่องให้ผู้ไม่ประสงค์ดี หรือก่อการร้ายก่อเหตุร้ายได้สะดวกมากขึ้น แม้ช่วงนี้ปฏิบัติการก่อวินาศกรรม หรือก่อเหตุร้ายแรงรูปแบบต่างๆ ทั่วโลกจะห่างหายไปจากหน้าสื่อก็ตาม
ขณะนี้ชาติตะวันตกเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างค่อยเป็นต่อยไป เช่น กรณีของรัฐวิกทอเรีย ประเทศออสเตรเลียที่ "แดเนียล แอนดรูวส์" มุขมนตรีรัฐวิกทอเรียระบุว่า รัฐวิกทอเรียจะผ่อนปรนข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะอนุญาตให้แต่ละบ้านต้อนรับแขกได้สูงสุด 5 คน และรวมตัวกันนอกบ้านได้ไม่เกิน 10 คน มีผลตั้งแต่วันอังคาร (12 พ.ค.) เป็นต้นไป
นอกจากนี้ รัฐวิกทอเรียยังอนุญาตให้จัดงานแต่งงานที่มีแขกเข้าร่วมงาน 10 คน และอนุญาตให้จัดงานศพที่มีแขกร่วมงานได้สูงสุด 20 คนในกรณีที่จัดงานภายในอาคาร และไม่เกิน 30 คน หากจัดงานภายนอกอาคารได้ด้วย ซึ่งความเคลื่อนไหวของรัฐวิกทอเรีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของออสเตรเลีย มีขึ้นหลังจากที่ “สกอตต์ มอร์ริสัน” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศแผนกลับมาเปิดเศรษฐกิจของประเทศภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่น กำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศในเดือนพ.ค.นี้ แต่จะยังคงมีการเฝ้าระวังในแถบโตเกียวและพื้นที่อื่นๆ หลังมีประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น กล่าวว่า "เรากำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 34 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดของประเทศ ภายในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) นี้ ถ้าสามารถทำตามเงื่อนไขบางประการ เช่น มีผู้ติดเชื้อน้อยลงในทุกสัปดาห์"
ขณะที่อีก 13 จังหวัดที่รัฐบาลกลางยังคงต้องการให้เป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษ เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนมาก ได้แก่ โตเกียว คานางาวะ ไซตามะ ชิบะ โอซากา เฮียวโกะ ฟุกุโอกะ ฮอกไกโด อิบารากิ อิชิคาวะ กิฟุ ไอจิ และเกียวโต
เมื่อเดือน เม.ย. "ชินโซ อาเบะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยกำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นร้องขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น รวมถึงหยุดทำธุรกิจบางอย่างชั่วคราว หรือหากต้องออกจากบ้านก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนในสหรัฐ คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำแนะนำต่อชาวอเมริกันให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระจายของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ที่แนะนำว่าการสวมหน้ากากขณะออกนอกเคหะสถานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
มาตรการนี้ในสหรัฐไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่เป็นคำแนะนำต่อชาวอเมริกัน ซึ่งทรัมป์ ก็แนะว่าควรใช้หน้ากากผ้า มากกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เนื่องจากควรสงวนเป็นทรัพยากรสำหรับบุคลาการทางการแพทย์และผู้ป่วยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตตามวิถีปกติใหม่ที่ต้องปกปิดใบหน้าเป็นการเพิ่มโอกาสให้อาชญากร ผู้ไม่ประสงค์ดี หรือแม้แต่สมาชิกก่อการร้าย สามารถก่อเหตุรุนแรงได้โดยไม่มีใครสงสัย
“ปัญหาใหญ่ของคนที่สวมหน้ากากอนามัยคือจะไม่มีใครเห็นใบหน้าที่แท้จริงและจุดนี้อาจจะเปิดโอกาสให้กับคนที่ต้องการปกปิดใบหน้าเพราะต้องการทำความผิด หรือปฏิบัติการบางอย่างเพื่อสร้างความเสียหายแก่คนหมู่มาก” ฟรานซิส ดอดสเวิร์ธ นักวิชาการอาวุโสด้านอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน ใกล้กับกรุงลอนดอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของดอดสเวิร์ธ อาจเป็นการมองแง่ร้ายเกินไปสำหรับบางประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เคยเจอการแพร่ระบาดของโรคซาร์สและโรคระบาดอื่นๆมาตลอดจนทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านี้เคยชินกับการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะมานานนับทศวรรษ แต่ก็มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดาผู้ก่อเหตุร้ายแรงทั้งในสหรัฐและยุโรปตะวันตกล้วนแต่สวมหน้ากากขณะปฏิบัติภาระกิจทั้งสิ้น
ดอดส์เวิร์ธ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการสเปนได้จับกุมสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมตัว ผู้ก่อการร้ายรายนี้ ได้หนีจากซีเรียมากบดานที่เมืองทางใต้ของสเปนพร้อมทั้งปรับพฤติกรรมต่างๆให้เหมือนคนในพื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์ช่วงโรคโควิด-19ระบาด คืออยู่แต่ในบ้าน และหากต้องไปไหนก็จะสวมหน้ากากอนามัยตลอดเพื่อหลบเลี่ยงการถูกจดจำใบหน้าจากทางการ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนแห่งหนึ่งพัฒนาระบบจดจำใบหน้าให้สามารถระบุตัวบุคคลได้ แม้คนนั้นจะสวมหน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม โดยบริษัทนี้ชื่อ "ฮันหวัง เทคโนโลยี" ได้นำเสนอเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าที่สามารถระบุตัวบุคคลได้แม่นยำ แม้คนนั้นจะสวมหน้ากากอยู่
ฮันหวัง ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีพนักงาน 20 คน ได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในระบบมีข้อมูลของบุคคลราว 6 ล้านคน แม้จะมีข้อมูลของประชาชนที่สวมหน้ากากเพียงเล็กน้อย แต่บริษัทก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงภายหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
และถ้าหากนำเทคโนโลยีนี้ไปติดตั้งร่วมกับกล้องวงจรปิดตามที่ต่างๆ จะเพิ่มศักยภาพให้สามารถระบุรายละเอียดของประชาชนได้มากถึง 30 คนภายในหนึ่งวินาที ถ้าบุคคลสวมหน้ากาก ความแม่นยำของระบบจะอยู่ที่ 95% และถ้าไม่สวมหน้ากากเทคโนโลยีนี้จะมีความแม่นยำสูงถึง 99.5%