พลิกโฉม 'สวนสนุก' ด้วย ‘นิวนอร์มอล’
สำรวจการเปลี่ยนแปลงของ "สวนสนุก" ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงการให้บริการหลังยุค "โควิด-19"
สวนสนุกถูกออกแบบมาสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ เป็นธุรกิจที่เน้นคนจำนวนมากและประสบการณ์ร่วม เครื่องเล่นสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้เล่นมากมาย ขบวนพาเหรดและโชว์พลุตระการตาเพื่อดึงดูดคนให้อยู่ในสวนสนุกต่อ พื้นที่รับประทานอาหารออกแบบมาเพื่อให้จุแขกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
แต่ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป เจ้าของสวนสนุกไม่ว่าระดับชาติหรือภูมิภาคพยายามเปลี่ยนแปลงการให้บริการหลังยุคโควิด-19
ซาบีน เลห์แมนน์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คิวเรียซิตัส บริษัทที่ปรึกษาเชี่ยวชาญด้านสวนสนุกและการท่องเที่ยวเผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า ต่อไปเมื่อเปิดให้บริการใหม่สวนสนุกจะให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิมมาก
“เราออกจากบ้านก็เพื่อไปหาประสบการณ์กับคนหมู่มาก และแน่นอนว่าประสบการณ์ร่วมแบบนี้ ไม่ว่าจะกับเพื่อนในกลุ่มของคนหรือกับคนแปลกหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป” เลห์แมนน์แสดงทัศนะ
ขณะนี้ "เซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์" เป็นธีมพาร์คแห่งเดียวที่เปิดบริการใหม่ระหว่างที่ยังเกิดโรคระบาด โดยดิสนีย์ยังไม่มีแผนเปิดธีมพาร์คในประเทศอื่นๆ แต่จะเปิดดิสนีย์สปริงส์ ศูนย์ชอปปิงและบันเทิงในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอีกครั้งในวันพุธ (20 พ.ค.)
ด้าน "ยูนิเวอร์แซล" คาดว่าสวนสนุกในฟลอริดาจะปิดไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.เป็นอย่างน้อย แต่บริษัทไม่ได้เผยวันเปิดใหม่ที่แน่ชัด ส่วน ซิตีวอล์ค ศูนย์ชอปปิงและบันเทิงจะเริ่มเปิดบางส่วนในวันที่ 21 พ.ค.
การที่สวนสนุกสหรัฐเปิดประตูอีกครั้ง แน่นอนว่าคำแนะนำด้านสุขภาพย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เหมือนกันคือ ต้องรักษาระยะห่าง 6 ฟุต ต้องสวมหน้ากาก ทำความสะอาดพื้นผิวบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยวก่อนอนุญาตให้เข้าบางพื้นที่
“การที่สวนสนุกเปิดดำเนินการได้โดยไม่ทำลายประสบการณ์โดยรวมถือว่าน่าสนใจมาก ผู้คนต้องการความปลอดภัยก็จริง แต่ก็ไม่อยากนั่งอยู่ท่ามกลางละอองยาฆ่าเชื้อทั้งวัน” เลห์แมนน์ กล่าว
บิล โคน ประธานและซีอีโอ ไอเทค เอนเตอร์เทนเมนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการหลายอย่างต้องทำให้ผู้มาเยือนเห็นชัดเจน สวนสนุกต้องการให้แขกรู้สึกสบายใจระหว่างเข้ามาใช้บริการ หลายบริษัทจึงต้องแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ภายในได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ติดป้ายระบุให้รักษาระยะห่างและจัดวางจุดล้างมือในจำนวนมากพอ และการรับรู้จะเป็นหัวใจสำคัญให้สวนสนุกได้ใจนักท่องเที่ยว
หลังจากได้ต้นแบบจากเซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์คาดกันว่าสวนสนุกหลายแห่งในสหรัฐจะจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ตอนนี้สวนสนุกของดิสนีย์ในเซี่ยงไฮ้ดำเนินการไม่ถึง 30% ของศักยภาพเท่านั้น ส่วนจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติในแต่ละประเทศหรือแต่ละรัฐ ตัวอย่างเช่น คณะทำงานรัฐฟลอริดาแนะนำให้ธีมพาร์คที่จะเปิดบริการใหม่เริ่มต้นให้รับผู้เข้าชมได้ 50% เครื่องเล่นก็ต้องจำกัดจำนวนคนด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างผู้เล่น
ผู้เข้าชมต้องสวมหน้ากากและวัดอุณหภูมิก่อนเข้า นอกเหนือจากการตรวจความปลอดภัยทั่วๆ ไป โดยได้รับอนุญาตให้ถอดหน้ากากได้เมื่อรับประทานอาหาร แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสวนสนุกมีแผนบังคับให้ผู้เข้าชมสวมหน้ากากทั้งวันอย่างไร
ลูกค้าจะเข้าสวนสนุกได้ต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าเพราะสวนสนุกไม่อยากให้ผู้คนแออัด ทั้งยังไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางกาย ระหว่างพนักงานกับลูกค้า และลูกค้ากับพนักงานเก็บตั๋วหน้าประตู สวนสนุกบางแห่งอาจไม่อนุญาตให้ขายตั๋วตรงประตูทางเข้า
ในทำนองเดียวกัน สวนสนุกหลายแห่งอาจเสนอทางเลือกจ่ายเงินด้วยระบบไร้เงินสด เพื่อลดการใช้เงินสดและปฏิสัมพันธ์ทางกายระหว่างพนักงานกับลูกค้า การสั่งอาหารในร้านอาหารของสวนสนุกผ่านทางโทรศัพท์มือถือจะมีมากยิ่งขึ้นด้วย
แดน ดอยล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในสวนสนุกจากบริษัทร็อบสันฟอเรนสิค กล่าวว่า สวนสนุกไม่ได้เลิกใช้เงินสดไปเสียทีเดียว แต่กระตุ้นให้ลูกค้าเลี่ยงการใช้เงินสด
สิ่งที่พบเห็นในขณะนี้คือสวนสนุกหลายแห่งใช้กระจกใสกั้นระหว่างพนักงานเก็บเงินและลูกค้า เหมือนอย่างที่ร้านค้าปลีกทำตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัย
การเข้าคิวรอเล่นเครื่องเล่น เข้าร้านอาหารหรือห้องน้ำต้องรักษาระยะห่าง โดยมีเครื่องหมายติดไว้ให้เห็นชัดเจน
“ผมทราบมาว่าสวนสนุกหลายแห่งใช้ทางลัด แทนที่จะมายืนรอคิวกันยาวเหยียด ก็ให้ลูกค้าจองคิวรถไฟเหาะเอาไว้ ถึงคิวก็มาแล้วขึ้นเล่นได้เลย” ดอยล์ กล่าว
"เมจิกแบนด์ส" ของดิสนีย์ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสดและไม่ต้องเข้าคิว บริษัทมีแอพพลิเคชั่นสำหรับสวนสนุกแห่งนี้โดยเฉพาะ ให้ลูกค้าจองเครื่องเล่น สั่งอาหาร และซื้อสินค้าที่ระลึกได้
ส่วนการแสดงสดที่ดึงให้นักท่องเที่ยวมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่จะระงับไปชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรดช่วงกลางวันหรืองานโชว์พลุช่วงกลางคืน
แต่การแสดงเหล่านี้อาจไม่หายไปนาน สวนสนุกหลายแห่งพึ่งพาการจุดพลุดึงลูกค้าอยู่ในสวนสนุกให้นานขึ้น จะได้ใช้เงินมากขึ้น ถ้ากลางคืนไม่มีอะไรดึงดูดใจเลย นักท่องเที่ยวก็มีแรงจูงใจให้อยู่ที่นั่นน้อยลง สวนสนุกจึงต้องหาวิธีการเก็บการแสดงเหล่านี้เอาไว้แต่ต้องมีความปลอดภัย
สุดท้ายแล้วสวนสนุกต่างๆ จะเริ่มขยายจำนวนผู้เข้าชม อาจเป็นเพราะทางการผ่อนคลายข้อจำกัดลง หรือมีการอนุมัติวัคซีนและจำหน่ายจ่ายแจกให้ใช้กัน ถึงจุดนี้เทคโนโลยีจะช่วยให้ปฏิบัติการของธีมพาร์คราบรื่นไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น ผู้คนใช้เงินสดน้อยลง การซื้อตั๋วและจองเครื่องเล่นกระทำผ่านระบบดิจิทัล
โคนมองว่า ในระยะกลางเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามาแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เคยทำ เช่น พนักงานที่เคยทำหน้าที่นับจำนวนคนเข้าคิวเล่นเครื่องเล่นหรือรอเข้าห้องน้ำก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องอัตโนมัติแทน การสั่งอาหารผ่านมือถือจะมีให้เห็นมากขึ้น ลดความต้องการแคชเชียร์ลงไปได้ คนงานกลุ่มนี้อาจถูกโยกไปทำงานในครัวแทน
“ทุกจุดสัมผัสจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกรรมลดการสัมผัสหรือไร้การสัมผัสไปเลย ซึ่งจะกลายเป็นปทัสถานใหม่ในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีมนุษย์เลย มนุษย์จะไปทำงานในจุดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประสบการณ์การมาเที่ยวสวนสนุกได้อย่างแท้จริง” เลห์แมนน์ กล่าวเสริม
ในระยะยาว โคนมองว่าสวนสนุกจะเริ่มออกแบบเครื่องเล่นแตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย การเข้าคิวและกลยุทธ์เล่นเครื่องเล่นที่เน้นคนจำนวนมากในสถานที่ใกล้ชิดจะเปลี่ยนแปลงไป หันมาใช้วิธีที่สร้างสรรค์ในการรักษาจำนวนคนและประสบการณ์ของลูกค้าเอาไว้ให้ได้
“ดีมานด์ยังมีอยู่ ตอนแรกๆ อาจมีข้อกังวลอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วผู้คนจะกลับมาเที่ยวสวนสนุก” โคนสรุป