หนังเล่าโลก: The Kingmaker

หนังเล่าโลก: The Kingmaker

ถ้าพูดถึงสุภาพสตรีหมายเลข 1 ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย “อิเมลดา มาร์กอส” คือสตรีผู้มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่ง เคยอยู่ในครอบครัวทรงอำนาจสูงสุดในฟิลิปปินส์กว่า 20 ปี จนถึงจุดต่ำสุดถูกประชาชนขับไล่ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

ภาพยนตร์เรื่อง “The Kingmaker แด่ลูก ผัว และตัวฉันเอง” เปิดเรื่องที่กรุงมะนิลา ในปี 2557 บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของอิเมลดา ภริยาประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์ ผ่านปากคำของเธอเอง คนรอบข้าง เช่น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (บองบอง) ลูกชายเพียงคนเดียว และเพื่อนฝูง รวมทั้งคนที่เคยโดนอิทธิพลมืดของตระกูลมาร์กอสเล่นงาน ระหว่างครองอำนาจ 30 ธ.ค. 2508 – 25 ก.พ. 2529 ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หญิง นักเคลื่อนไหวหญิง รวมทั้งประธานาธิบดีเบนิโญ อาคีโน ที่ 3 หรือ "นอยนอย" บุตรชายประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน กับ “เบนิโญ อาคีโน จูเนียร์” หรือ “นินอย” สมาชิกวุฒิสภา ที่มีแนวคิดทางการเมืองต่อต้านเผด็จการมาร์กอส จนต้องพาครอบครัวไปอยู่สหรัฐ (ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาโรคหัวใจด้วย) ครั้นกลับมาฟิลิปปินส์แค่ลงจากเครื่องบินสู่สนามบินมะนิลาได้ไม่กี่ก้าวนินอยก็ถูกยิงเสียชีวิต อิเมลดาถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง

แม้ The Kingmaker จะบอกเล่าเรื่องของอิเมลดาเป็นหลัก แต่บองบอง บุตรชาย เป็นอีกตัวละครหนึ่ง ที่มีสีสันไม่น้อยทั้งในภาพยนตร์และในโลกการเมือง ช่วยหนุนให้บทบาททางการเมืองของอิเมลดาในฐานะแม่ให้เด่นชัดขึ้นมาอีก 

"ฉันไม่ได้อยากเป็นแค่แม่ของคนฟิลิปปินส์...ฉันต้องการเป็นแม่ของคนทั้งโลก" อิเมลดาว่าไว้เช่นนี้ 

เมื่อได้เห็นหน้าบองบองกับนอยนอยก็นึกขึ้นได้ว่า ตระกูลมาร์กอสกับอาคีโนที่ขับเคี่ยวทางการเมืองมาโดยตลอดต่างมีลูกชายคนเดียวเหมือนกัน นอยนอย ได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 15 ไปแล้ว แล้วบองบองล่ะ จะมีโอกาสหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2508 ตอนที่มาร์กอสเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก บองบอง เด็กชายตัวน้อยในชุดสีขาว ยืนตัวตรงบนโต๊ะเตี้ยๆ กล่าวแนะนำตัวกับแขกเหรื่อ “มิตรสหายที่รัก ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีครับ ผม บองบอง มาร์กอส เมื่อโตขึ้นผมอยากเป็นนักการเมือง”

ในวัย 8 ขวบ บองบองทำงานการเมืองให้ครอบครัวได้แล้ว ด้วยหน้าตาน่ารักน่าชัง ยิ้มง่าย ร่าเริง เขาแสดงภาพยนตร์หาเสียงให้บิดา แน่นอนว่าเด็กชายเจ้าเสน่ห์คนนี้ดึงดูดใจผู้ชมได้ไม่แพ้แม่ 

 50 ปีต่อมา ตระกูลมาร์กอสหมายมั่นให้เขาเป็นประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง 

“แม่อยากให้ผมเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ผมอายุได้ 3 ขวบ” บองบองกล่าวกับรอยเตอร์ ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในสหรัฐ เมื่อปี 2562

แต่เส้นทางนี้อาจจะยากเกินไป ส.ว.บองบอง จึงไต่เต้าด้วยการลงเลือกตั้งรองประธานาธิบดีในปี 2559 เพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตตามที่ครอบครัววาดหวัง ระบบประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์แตกต่างจากระบบสหรัฐตรงที่ ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองแยกจากกัน ไม่ได้มาแพ็กคู่เลือกประธานาธิบดีแถมรองเหมือนในสหรัฐ

159546831659
- อิเมลดา และ บองบอง เดินสายหาเสียงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีครั้งที่แล้ว -

ผลการเลือกตั้งบองบองพ่ายแพ้ให้กับรองประธานาธิบดีเลนี โรเบรโด นักการเมืองหญิงหน้าใหม่ ไปอย่างเฉียดฉิว ห่างกันเพียง 263,000 คะแนน ​บองบองยื่นฟ้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง (ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ชัยชนะเป็นของโรดริโก ดูเตอร์เต แบบถล่มทลาย)

การพ่ายแพ้พลาดหวังต่อตำแหน่งรองประธานาธิบดีของบองบอง ถือว่าดับฝันตระกูลมาร์กอส แต่ในเมื่อเกิดมาในครอบครัวการเมือง เส้นทางของบองบองคงจะไม่จบแค่นี้ เช็คข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดพบว่า เมื่อเดือน ม.ค. บองบองประกาศว่า เขาจะลงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2565 แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงตำแหน่งใด

ส่วนข่าวคราวที่ถือว่าทันยุคทันสมัย เมื่อวันที่ 16 เม.ย. บองบองโพสต์คลิปวิดีโอบอกว่า เขากำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 (ขณะนั้นชาวฟิลิปปินส์ติดเชื้อ 5,660 คน เสียชีวิต 362 คน ส่วนตัวเลขล่าสุด ณ เช้าวันที่ 23 ก.ค. จากเว็บไซต์ Worldometer ระบุ ติดเชื้อ 72,269 คน เสียชีวิต 1,843 คน) 

เป็นธรรมดาของคนดังที่ต้องคู่กับข่าวลือ การเจ็บป่วยคราวนี้มีข่าวลือว่า บองบองเสียชีวิตแล้ว   

“สำหรับผม ไม่เป็นไรหรอกถ้ามีคนพูดว่าผมตายแล้ว ผมก็แค่แสดงตัวให้เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่กับคนที่เผยแพร่เฟคนิวส์นี่สิ อย่าทำเลย คุณกำลังทำร้ายประชาชน” 

ประโยคสุดท้าย บองบองไม่ได้พูดผิดเลยสักนิด ใครได้ดู The Kingmaker จะรู้เลยว่า ทั้งอิเมลดาและบองบอง มีเสน่ห์อย่างเหลือร้าย จึงไม่แปลกใจที่ผู้เคยใกล้ชิด ได้รับประโยชน์ ได้รับความห่วงหาอนาทรจากตระกูลมาร์กอสจะรักพวกเขาอย่างสุดหัวใจ พร้อมจะลงคะแนนเสียงให้เมื่อกลับสู่แวดวงการเมือง แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต ต่างสาปส่งตระกูลมาร์กอส และขนพองสยองเกล้าทุกครั้งเมื่อคิดว่า พวกเขากำลังจะกลับมามีอำนาจอีก