ย้อนรอย 4 สัญลักษณ์ ‘ประท้วงยุคใหม่’ ทั่วโลก

ย้อนรอย 4 สัญลักษณ์ ‘ประท้วงยุคใหม่’ ทั่วโลก

การประท้วงในปัจจุบัน มีรูปแบบแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก เหล่านักกิจกรรมต่างคิดค้น “สัญลักษณ์” ที่สร้างสรรค์และตรึงใจคนมากขึ้น เพื่อให้ข้อเรียกร้องของตนมีพลังและได้รับความสนใจ กรุงเทพธุรกิจขอหยิบยก 4 สัญลักษณ์การประท้วงทั่วโลกที่หลายคนน่าจะยังจำกันได้

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คนสมัยนี้จำนวนไม่น้อยมีความสนใจจดจ่อกับเรื่องต่าง ๆ ไม่นานเหมือนเมื่อก่อน เพราะอยู่ในยุคที่สามารถเข้าถึงสื่อใหม่อย่าง “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งเน้นการส่งข้อความสั้นทันใจ และฟีดข่าวไม่เกิน 280 ตัวอักษร

ด้วยเหตุนี้ บรรดานักเคลื่อนไหวในโลกประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมด้วยแนวทางใหม่ ๆ โดยใช้สัญลักษณ์หรืออุปกรณ์ เพื่อดึงดูดความสนใจและทำให้สังคมจดจำได้ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่การชูป้ายและการตะโกนสโลแกนประจำกลุ่มเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

ตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้ เช่น การชุมนุมประท้วงของมวลชน “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส และ “ขบวนการร่มเหลือง” ในฮ่องกง ที่ใช้สัญลักษณ์อันโดดเด่นของตัวเองในการส่งข้อความไปยังผู้มีอำนาจและขยายการรับรู้ไปทั่วโลก

หากนับเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 4 เหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปนี้ เรียกได้ว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างการจดจำและรูปแบบการนำเสนอข้อเรียกร้องของตน ผ่าน “สัญลักษณ์” อันทรงพลัง

 

  • เสื้อกั๊กเหลือง (ฝรั่งเศส, 2561-2562)

การประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” เกิดขึ้นหลายระลอกทั่วฝรั่งเศสและยืดเยื้อนานกว่า 2 เดือนระหว่างปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 โดยมีการปิดทางหลวงตั้งแต่แคว้นโพรวองซ์ไปถึงแคว้นนอร์มังดี และเกิดจลาจลหลายครั้งในกรุงปารีส ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คนและบาดเจ็บอีกหลายพันคนจากเหตุรุนแรง

159784321089

จุดเริ่มต้นของมวลชนสวมเสื้อกั๊กเหลืองมาจากการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ฐานเตรียมขึ้นภาษีน้ำมันซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และเรียกร้องให้ปธน.มาครงลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด มาครงยอมถอยด้วยการประกาศล้มแผนขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายงบประมาณปี 2562 จนการประท้วงทั่วประเทศค่อย ๆ สงบลง

แม้การประท้วงยุติลงไปแล้ว แต่ “เสื้อกั๊กเหลือง” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่พอใจของมวลชนที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลมาครง เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับชนชั้นแรงงาน และยังหาซื้อได้ง่าย

159784322788

นอกจากนี้ กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้ผู้ขับขี่พกเสื้อกั๊กฉุกเฉินซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง ติดยานพาหนะไว้ สำหรับใช้สวมใส่กรณีรถเสียหรือประสบเหตุฉุกเฉินุ ในความพยายามเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตที่ค่อนข้างสูงของประเทศ

 

  • ร่มเหลือง (ฮ่องกง, 2557)

ในอดีต เรามักใช้ร่มเพื่อกันแดดหรือกันฝนเท่านั้น แต่นับตั้งแต่ปี 2557 “ร่ม” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง เพื่อตอบโต้รัฐบาลกลางของจีนที่ตัดสินใจจำกัดสิทธิการเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง โดยอนุมัติเฉพาะรายชื่อที่มีแนวคิดฝักใฝ่ปักกิ่งเท่านั้น

159784326351

แม้ผู้ประท้วงใช้ร่มเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และกระสุนยางจากตำรวจเป็นหลัก แต่สุดท้ายแล้ว ร่มก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการร่มเหลือง”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ร่มถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วง เมื่อปี 2550 ในลัตเวียเคยมีการเคลื่อนไหวที่ได้รับสมญานามในภายหลังว่า “การปฏิวัติร่ม” ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงออกมาชุมนุมกันท่ามกลางสายฝน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการทุจริตและนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลังเกิดวิกฤติการเงินโลก จนนำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

 

  • หน้ากาก กาย ฟอว์กส (ทั่วโลก, 2554-2555)

“ดิ ออคคิวพาย มูฟเมนท์” หรือ ขบวนการยึดวอลล์สตรีท มีจุดเริ่มต้นจากการปักหลักประท้วงของประชาชนในสวนสาธารณะซุคคอตติใกล้กับตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในนครนิวยอร์กของสหรัฐ เมื่อเดือน ก.ย. 2554 โดยเป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมคือเพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ ความโลภของบริษัทยักษ์ใหญ่ และอิทธิพลนายทุนในโลกการเมือง

การเคลื่อนไหวช่วงแรกในวอลล์สตรีทมีสโลแกนว่า “เราคือกลุ่ม 99%” ซึ่งสื่อถึงความไม่เท่าเทียมด้านรายได้และการกระจายความมั่งคั่งในสหรัฐระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด 1% กับประชากรที่เหลือในประเทศ

159784327984

ต่อมา หน้ากาก “กาย ฟอว์กส” กลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการนี้และขบวนการอื่น ๆ ทั่วโลก ขณะที่ผู้ประท้วงในหลายประเทศแสดงพลังสนับสนุนกลุ่มออคคิวพาย วอลล์สตรีท ด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอว์กส และเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย

การเคลื่อนไหวของกลุ่มออคคิวพายอาศัยอิทธิพลจาก กาย ฟอว์กส หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า กวีโด ฟอว์กส สมาชิกกลุ่มคาทอลิกชาวอังกฤษที่พยายามระเบิดสภาขุนนางในกรุงลอนดอนและวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แต่ล้มเหลวในปี 2148

กว่า 400 ปีต่อมา หน้ากากกาย ฟอว์กส มีชื่อเสียงโด่งดังจากวรรณกรรมที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง “V for Vendetta” และกลายเป็นสัญลักษณ์สากลของการขัดขืนอย่างแพร่หลายตั้งแต่ภาพยนตร์เข้าฉายในปี 2549

จากนั้น หน้ากากนี้เริ่มมีบทบาทสำคัญในการประท้วงครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยกลุ่มแฮกเกอร์ “แอนโนนีมัส” (Anonymous) ที่โด่งดังจากการโจมตีทางไซเบอร์โดยปฏิเสธการให้บริการต่อรัฐบาล, สถาบันของรัฐ, เจ้าหน้าที่รัฐบาล, บรรษัท และโบสถ์แห่งวิทยาศาสตร์ (Church of Scientology) ซึ่งสมาชิกกลุ่มแอนโนนีมัสจะใช้หน้ากากเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงอยู่เสมอ

159784329066

ปัจจุบัน หน้ากากกาย ฟอว์กส ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการประท้วงทางการเมืองในหลายประเทศและดินแดน รวมถึงการชุมนุมต้านรัฐบาลในฮ่องกง

 

  • กะทะ-หม้อ (อเมริกาใต้ 2544, 2555, 2562)

หม้อหรือกะทะ ในภาษาสเปนคือคำว่า Cacerolazo (กาเซโรลาโซ) ซึ่งมาจากคำว่า Cacerola (กาเซโรลา) แปลว่า หม้อสต๊อก/สตูว์ ส่วนกาเซโรลาโซแปลว่า การตีกะทะ/หม้อ ซึ่งกลายเป็นรูปแบบการประท้วงที่ใช้หม้อ กะทะ หรือเครื่องครัวอื่น ๆ มาตีให้เกิดเสียงดัง และเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในอาร์เจนตินาช่วงวิกฤติการเงินปี 2544 และอีกครั้งในปี 2555

สาเหตุที่หม้อหรือกะทะถูกนำมาใช้ในบริบทเช่นนั้น เพื่อต้องการทำให้เนื้อหาของการประท้วงได้มีโอกาสไปถึงการรับรู้ของบรรดาชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองในสังคม

เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ชาวชิลีใช้วิธีตีกะทะ/หม้อในการประท้วงรัฐบาล หลังประกาศขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเร่งด่วนสูงสุดถึงประมาณ 35 บาท โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐต้องแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงและเงินเปโซที่อ่อนค่าลง

159784330445

แผนการนี้ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มนักศึกษา และนักเรียนไฮสคูล จนส่วนใหญ่ตัดสินใจออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนและจุดต่าง ๆ ในตัวเมือง พร้อมกับตีกะทะหรือหม้อเสียงดังสนั่น

ช่วงนั้น ประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา ของชิลีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังเหตุประท้วงกรณีขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พิเนรายังเปิดทางให้กองกำลังทหารเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยตามจุดต่าง ๆ ในตัวเมืองด้วย

รูปแบบการประท้วงแบบตีหม้อนี้ยังพบแพร่หลายในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเวเนซุเอลา อุรุกวัย เอกวาดอร์ คิวบา เปรู บราซิล และเปอร์โตริโก

159784331519

ปัจจุบัน การประท้วงแบบกาเซโรลาโซ หรือการตีกะทะ/หม้อ ได้รับความนิยมมากขึ้นในการประท้วงในภูมิภาคอื่น ๆ รวมไปถึงสเปน แคนาดา และไอซ์แลนด์ และสิ่งที่ทำให้การประท้วงแบบนี้แตกต่างจากรูปแบบอื่น ๆ คือ ผู้ประท้วงสามารถร่วมแสดงจุดยืนด้วยตีกะทะ/หม้อจากที่บ้านได้นั่นเอง