'ไบต์แดนซ์' เปิดเงื่อนไขขายติ๊กต็อกในสหรัฐ
บริษัทไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอพพลิเคชั่น "ติ๊กต็อก" (TikTok) เปิดเผยเงื่อนไขการขายกิจการในสหรัฐ ด้วยการยืนยันว่า บริษัทจะไม่ถ่ายโอนอัลกอรึทึมและเทคโนโลยีให้กับบริษัทออราเคิล
ไบต์แดนซ์ ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาวานนี้ (21ก.ย.) ว่า “ข้อตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่รวมถึงการถ่ายโอนอัลกอริทึมและเทคโนโลยีต่างๆ และออราเคิลจะมีอำนาจในการตรวจสอบซอร์สโค้ดของติ๊กต็อกในสหรัฐ”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ไบต์แดนซ์ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นสำหรับการทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐเพื่อขายธุรกิจให้กับนักลงทุนอเมริกัน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอนุมัติข้อตกลงขายกิจการติ๊กต็อกในสหรัฐให้กับบริษัทออราเคิล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 ก.ย.) โดยข้อตกลงดังกล่าวจะมีออราเคิลและวอลมาร์ทร่วมลงทุนในธุรกิจ ติ๊กต็อก โกลบอล ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่
ติ๊กต็อก โกลบอล จะเปิดเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในอีกไม่ถึง 12 เดือนข้างหน้านี้ และจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ
แถลงการณ์ของไบต์แดนซ์ ยังระบุถึงสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองในติ๊กต็อก โกลบอล ไว้ที่ 80% ออราเคิล 12.5% และวอลมาร์ท 7.5% พร้อมทั้งยืนยันว่า รายงานที่ออกมาตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าอำนาจบริหารส่วนใหญ่ของติ๊กต็อก โกลบอลจะอยู่ในมือของชาวอเมริกัน โดยไบต์แดนซ์และผู้ร่วมทุนในจีนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในติ๊กต็อก โกลบอล ลงมาอยู่ที่ 36% จากปัจจุบันคือ 45% เป็นเพียงข่าวลือ เนื่องจากในอนาคตติ๊กต็อก โกลบอล จะอยู่ในกลุ่มบริษัทในเครือของไบต์แดนซ์
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ให้กระทรวงการคลังในนามติ๊กต็อก โกลบอล เป็นแค่การประเมินตามภาษีเงินได้ และรายได้อื่นซึ่งบริษัทต้องชำระให้แก่รัฐบาลวอชิงตันตามกฎหมายในอนาคต ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นกองทุนพัฒนาด้านการศึกษาของสหรัฐ
ด้านออราเคิล ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอนุมัติข้อตกลงครั้งสำคัญนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าออราเคิลจะต้องเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ของติ๊กต็อก และติ๊กต็อก โกลบอล จะเป็นบริษัทอิสระของสหรัฐ มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ และมีชาวอเมริกันเป็นสมาชิกคณะกรรมการ 4 คน จากทั้งหมด 5 คน ทั้งยังมี จาง อี้หมิง ประธานของไบต์แดนซ์ เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ “ติ๊กต็อก โกลบอล” ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทในเครือของไบต์แดนซ์
ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่จะมีชื่ออยู่ในบอร์ดบริหาร รวมถึง ดักลาส แมคมิลลอน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของวอลมาร์ท
นอกจากนี้ เทคโนโลยีทั้งหมดของติ๊กต็อกจะตกเป็นของติ๊กต็อก โกลบอล และต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวของสหรัฐ โดยจะต้องมีการรักษาความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐราว 100 ล้านคนอย่างรวดเร็ว ด้วยการย้ายข้อมูลของชาวอเมริกันทั้งหมดไปยังศูนย์ข้อมูล Generation 2 Cloud ของออราเคิล ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลคลาวด์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก
ด้านติ๊กต็อก ระบุว่า ออราเคิลจะเป็น “ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้” โดยเข้ามาดูแลในส่วนของข้อมูลผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐทั้งหมด รวมถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐวางใจได้ถึงประเด็นความมั่นคงในประเทศ ขณะที่วอลมาร์ทจะรับบทเป็น “พันธมิตรเชิงพาณิชย์”
นอกจากนี้ ออราเคิลและวอลมาร์ทจะเข้ามามีส่วนในการทำ Pre-IPO ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมิ.ย. ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะ 91,937,040 ราย และจากข้อมูลการใช้งานรายไตรมาสระบุว่า มีชาวสหรัฐ 100 ล้านคนที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวของไบต์แดนซ์ มีขึ้นวันเดียวกับที่ “ลอเรล บีเลอร์” ผู้พิพากษาศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย อนุมัติคำร้องจากผู้ใช้งานแอปพลิเคชันวีแชท เพื่อเลื่อนคำสั่งแบนแอพฯดังกล่าวออกไปก่อน โดยอ้างว่าคำสั่งแบนแอพฯนี้จะกระทบสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) เพราะการสั่งแบนวีแชทจะทำให้แพลตฟอร์มการสื่อสารดังกล่าวหายไป
ผู้พิพากษาท่านนี้มีคำวินิจฉัยว่า การแบนวีแชทจะทำให้ช่องทางสื่อสารของโจทก์หายไป และหลักฐานที่ว่าวีแชทเป็นภัยคุกคามความมั่นคงนั้น ยังมีไม่มากพอ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศแผนระงับการทำธุรกรรมใดๆ ของภาคธุรกิจสหรัฐที่มีต่อวีแชทและติ๊กต็อก โดยคำสั่งแบนกำหนดให้มีผลเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งหมายความว่าแอ๊ปเปิ้ลและกูเกิลจะต้องลบวีแชท และติ๊กต็อกออกจากแอ๊ปสโตร์ อีกทั้งบริษัทสหรัฐจะไม่สามารถให้บริการโอนเงิน หรือดำเนินการชำระเงินผ่านทางวีแชทได้