พลัง 'ผู้หญิง' ในสนาม 'เลือกตั้ง' เมียนมา

พลัง 'ผู้หญิง' ในสนาม 'เลือกตั้ง' เมียนมา

ชวนมองภาพ พลังของ "ผู้หญิง" ที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย ที่ยังถูกครอบด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ผ่านการ "เลือกตั้ง" ทั่วไป ครั้งที่ 2 ของเมียนมา

เป็นที่ชัดเจนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะส่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจีกลับสู่อำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของประเทศเมียนมานับตั้งแต่หลุดพ้นจากการปกครองของทหาร นักวิเคราะห์ข่าวในเมืองย่างกุ้ง ต่างก็เชื่อว่า พรรค NLD ของอองซานซูจี จะคว้าชัยชนะเหนือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่กองทัพเมียนมาร์ให้การสนับสนุน

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 330 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 168 ที่นั่ง รวมกับตำแหน่งทางการเมืองระดับสหภาพ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น 1,171 ที่นั่งโดย มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งสิ้น 97 พรรค มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 37 ล้านคนสื่อท้องถิ่นรายงานว่าการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาครั้งนี้ ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่ดีพอ

17ตุลาคม 2020 กกต.ประกาศยกเลิกการจัดการเลือกตั้งคูหา 9 เขต จากทั้งหมด 17 เขตเลือกตั้งในรัฐยะไข่ กระทบต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 1.1 ล้านคนในพื้นที่โดยทันที โดยระบุเหตุผลเพียงว่า "เป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในบรรยากาศที่จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างอิสระและยุติธรรม" (เพราะมีสงครามกลางเมือง) เช่นเดียวกับอีก 5 เขตในรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังว้า และม้ง ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้ กกต. ตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่า รู้เห็นกับพรรครัฐบาลของอองซานซูจี เนื่องจากเป็นการประกาศยกเลิกการเลือกตั้งในพื้นที่ ที่มีพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งมั่นใจว่า จะชนะการเลือกตั้ง

160500663216

เช่นเดียวกับที่ตัวแทนพรรคการเมืองอื่นมองว่า นี่เป็นเกมเอาเปรียบทางการเมืองของพรรครัฐบาล ตลอดจนกำลังนำพาระบอบการเมืองแบบพรรคเดียวมาสู่เมียนมา ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยประชาชน มิหนำซ้ำ ฝ่ายกองทัพ ได้ออกมาแถลงเรื่องอาจมีการโกงเลือกตั้งหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงคะแนนและส่งคะแนนทางไปรษณีย์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

นอกจากข้อครหาว่า ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีความท้าทายใหม่ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มี สส. หญิงแห่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว

  • ผู้หญิง ขุนศึก และปิตาธิปไตย

ว่ากันในทางวัฒนธรรม ตามเรื่องเล่าในนิทานปรัมปรา ชาวเมียนมานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นผู้หญิงอยู่ไม่น้อย เช่น ผีบ้านผีเรือนที่เป็นผู้หญิง นัตที่เป็นผู้หญิงหลายตน อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์เมียนมาก่อนการรวมชาติเป็นดินแดนที่มีการสู้รบกันหลายยุคหลายสมัย ซึ่งในอดีตต่างก็เป็นรัฐอิสระ เช่น มอญก็มีกษัตริย์ และมีอาณาจักรเป็นของตนเอง กะฉิ่น ยะไข่ ไทใหญ่ กะเหรี่ยงต่างก็มีกษัตริย์และอาณาจักรของตนเอง จึงมีศึกสงครามแย่งชิง และป้องกันอาณาจักรของตน มีแค่ผู้ชายที่นำทัพจับศึก พื้นที่ทางสังคมในประวัติศาสตร์ ผู้ชายจึงเป็นใหญ่เฉกเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ

ในยุคอาณานิคมได้เริ่มมีนักสู้เพื่อเอกราชเป็นผู้หญิง และเป็นนักเขียน คือ หลู่ ดุ๊ ด่อ อะหม่า (Lu Du Daw Amar) เธอเป็นนักเขียนที่เขียนบทความ และบทกวีต่อต้านระบอบอาณานิคม เธอไม่เพียงแต่ลุกขึ้นมาต่อต้านและต่อสู้กับระบอบอาณานิคมเท่านั้น ในยุคเผด็จการทหาร เธอก็ยังคงเดินหน้าเขียนบทความ และบทกวีต่อต้านเผด็จการทหาร ความคิดของเธอมีอิทธิพลต่อคนเมียนมาเป็นอย่างมาก ในหน้าประวัติศาสตร์เมียนมาสมัยใหม่ และในความทรงจำของชาวเมียนมา จดจาร และจดจำกันว่า เธอคือปัญญาชน และนักเขียนที่มีอุดมการณ์การเมืองนิยมฝ่ายซ้าย และเป็นนักวิจารณ์รัฐบาลเผด็จทหารตัวยงคนหนึ่งของเมียนมา

160500665928

ถึงขั้นที่ว่า ครั้งหนึ่งในปี 1967 สมัยรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวินเคยสั่งระงับการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ ชื่อ หลู่ ดุ๊ (Lu Du) แปลว่า มวลชน ซึ่งเธอร่วมทำกับสามีของเธอ เหตุเพราะเธอเขียนวิพากษ์อำนาจเผด็จการอย่างถึงพริกถึงขิง จนกระทั่ง รัฐบาลนายพลเนวินสั่งคุมขังเธอ หลังหมดยุคนายพลเนวิน เธอยังคงเขียนงานออกมามากมายเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมพม่าโดยทั่วไป ไปจนถึงบทความแสดงทัศนะต่อการเมือง และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในสังคมเมียนมาร์ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพราะเธอยังคงเชื่อว่า หลังยุคนายพลเนวิน ผู้นำที่ก้าวขึ้นมาหลังจากนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากนายพลเนวินทั้งสิ้น

ช่วงรัฐบาลพลเอกเต็งเส่ง สถาบันพัฒนาทรัพยากรแห่งเมียนมา ภายใต้การดูแลของรัฐบาลเมียนมาได้เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง ในเวทีการเมืองเมียนมามีรายงานว่า เมียนมาเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้หญิงมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจเพื่อดำเนินนโยบายต่างๆของประเทศน้อยมาก

นักวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจบทบาทของผู้หญิงเมียนมาในหลายรัฐและเมืองใหญ่ เป็นต้นว่า รัฐกะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง เมืองย่างกุ้ง และเมืองเนปิดอว์ พบว่า มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 0.11 ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในระดับท้องถิ่น ส่วนการเมืองระดับประเทศนั้น เมียนมามีผู้หญิงที่เป็นสมาชิกนิติบัญญัติเพียงแค่ร้อยละ 4.42 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาหยั่งรากลึกในสังคมเมียนมา มาเป็นเวลานาน ทีมวิจัยยังได้เสนอให้ทางการเมียนมากำหนดโควต้าสำหรับผู้หญิง ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้สัดส่วนของผู้หญิงในการเมืองเมียนมาร์มีมากขึ้น

  • สส. หญิงยุคประชาธิปไตย

ตามบัญชีรายชื่อของ กกต.เมียนมา ระบุว่า ในการเลือกตั้ง 2020 ของเมียนมา มี ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 6,969 คน ในจำนวนนี้พบว่า เป็นผู้หญิงจำนวน 1,104 คน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 ที่มี สส. หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ที่ 127 คน ถือว่า เพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า!

จากรายงานของ กกต.เมียนมาร์ระบุว่าในปี 2015 มีสส.หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 800 คน และได้รับเลือกเป็น สส. จำนวน 150 คน สำหรับการเลือกตั้งปี 2020 มีรายงานว่าเมืองย่างกุ้งเป็นเขตที่ส่ง สส.หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุดจำนวน 224 คน รองลงมาคือที่รัฐฉาน อยู่ที่ 205 คน

อย่างพรรค People's Pioneer Party (PPP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ มีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิงชื่อ แต๊ะ แต๊ะ ข่าย (Thet Thet Khine) ก็ส่งสส.หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวทางของพรรคเธอที่เห็นว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นนั้น กองทัพเป็นคนกุมอำนาจไว้อย่างมากมายมหาศาล ครอง 3 กระทรวงสำคัญ และได้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในสภา ทำให้ทหารมีสิทธิยับยั้งการแก้ข้อกฎหมายต่างๆ

กว่าครึ่งศตวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ที่เป็นปิตาธิปไตยเข้มข้น หลายคนกังขากับทหารที่จำคุกคนจำนวนนับพัน เหตุเพราะความเชื่อความเห็นต่างของพวกเขา การปราบปรามชนกลุ่มน้อย และการบริหารประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองแบบปิตาธิปไตย ที่รุนแรงมากเกินไป ในกรณีการส่ง สส.หญิง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อหวังให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ลดระดับความรุนแรง ตลอดจนลดการคอรัปชั่นในทางการเมือง

160500668478

อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดถึงผู้หญิงกับการเมืองพม่าสมัยใหม่ คงทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องนึกถึงภาพการต่อสู้อย่างยาวนานของผู้หญิงคนหนึ่ง นั่นคือ อองซาน ซูจี การต่อสู้ของเธอทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และทำให้เสียงเพรียกของสตรีกลายเป็นเสียงที่สังคมเมียนมามิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป เพราะโลกก็ได้ยินเสียงเพรียกนั้นเช่นกัน อองซาน ซูจี สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองระดับชาติ และนานาชาติ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังไม่มีใครลืมเธอได้เลย จนหลายคนคิดว่า เธอเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างให้กับผู้หญิงยุคใหม่ที่มั่นใจในตัวเอง

ตั้งแต่ภาพจำของอองซานซูจี และตัวเลขสถิติจำนวน สส. หญิง ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นในสนามประชาธิปไตยเมียนมาก็อาจทำให้หลายคนอาจคิดไปได้ว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับทางการเมือง และมีพื้นที่มากขึ้นหลังยุคเผด็จการทหารที่ไม่มีพื้นที่ให้

อย่างไรก็ดี ถ้าลองย้อนสำรวจดูดีๆ ก็จะพบว่า การที่เมียนมายอมรับ และบูชาอองซาน ซูจี ประหนึ่งราชินีแห่งเมียนมานั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่บทบาทและอำนาจของผู้หญิงเมียนมาแฝงฝังในสังคมเมียนมาร์มานานแล้ว อย่างน้อยที่เห็นได้ชัด ก็ตั้งแต่ยุคอาณานิคมหรือยุคต่อสู้กู้ชาติ

สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า จำนวน สส.หญิง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกครั้ง การเลือกตั้งในปี 1990 มี สส.หญิง ได้รับเลือกจำนวน 15 ราย ปี 2010 จำนวน 45 ราย ปี 2015 จำนวน 151 ราย

ข้อมูลขององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union) ถึงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2019 ระบุว่า สัดส่วน สส.หญิงในเมียนมา มีร้อยละ 11.3 จัดอยู่ในอันดับที่ 157 ขณะที่เมื่อเทียบกับไทยพบว่า สัดส่วน สส.หญิงในไทย มีแค่ร้อยละ 5.4 นั่นหมายความว่า จำนวน สส. ชายในสภา ซึ่งปัจจุบันเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมากถึง ร้อยละ 94.6 ทำให้สัดส่วนผู้แทนหญิงในสภาผู้แทนราษฎรของไทยอยู่ที่อันดับ 181 จากทั้งหมด 190 ประเทศ 

เท่ากับว่า เมียนมาให้พื้นที่กับ สส.ผู้หญิง มากกว่าประเทศไทยที่รั้งท้ายอาเซียน และโลกอย่างน่าสนใจ

อ้างอิง: http://archive.ipu.org/wmn-e/classif.htm