อุตฯอาหารทะเลไต้หวันกับข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงาน
อุตฯอาหารทะเลไต้หวันกับข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารทะเลสำเร็จรูปทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันให้เคลียร์ระบบห่วงโซ่อุปทานของตัวเองให้ใสสะอาดปราศจากเรื่องอื้อฉาวใดๆหลังจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐเพิ่มการจับปลาในน่านน้ำไต้หวันเข้าไว้ในลิสต์รายการสินค้าที่ผลิตโดยบังคับใช้แรงงาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไต้หวันที่มีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ปั่นป่วนอย่างมาก
การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจทำให้สหรัฐใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากไต้หวันและส่งผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไต้หวัน ที่แต่ละปีไต้หวันส่งออกอาหารทะเลคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์และตลอดเวลาที่ผ่านมา กองเรือประมงของไต้หวันก็เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานอพยพในอุตสาหกรรมประมงหรือใช้แรงงานเหล่านี้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง และส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การติดป้ายบังคับใช้แรงงานครั้งนี้ของกระทรวงแรงงานสหรัฐ สร้างแรงกดดันให้แก่บริษัทฟง ชุน ฟอร์โมซา ฟิชเชอรี หรือเอฟซีเอฟ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไต้หวันซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นที่เพิ่งซื้อกิจการบับเบิ้ล บี ฟู้ดส์ มีฐานดำเนินงานในสหรัฐ เมื่อเดือนม.ค.
การเพิ่มไต้หวันเข้าไว้ในรายการสินค้าที่ผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือบังคับใช้แรงงานปี2020 ของกระทรวงแรงงานสหรัฐถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในสายตาบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและฝูงเรือประมงไต้หวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดอันดับสองของโลก ซึ่งลิสต์รายชื่อดังกล่าวที่รวมไต้หวันเข้าไปด้วยเป็นครั้งแรกจะถูกเผยแพร่ให้บรรดาบริษัทอเมริกันได้รับรู้เพื่อตัดสินใจถึงแหล่งที่มาของสินค้าและจะถูกใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะสกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากไต้หวัน
แอนดี้ เฉิน ที่ปรึกษาระดับอาวุโสทางทะเลของกรีนพีซ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางการไต้หวันปฏิรูปด้านแรงงานน้อยมากและคัดค้านข้อเรียกร้องให้ขยายกฏระเบียบให้ครอบคลุมฝูงเรือประมงสัญชาติไต้หวันให้อยู่ในระดับเดียวกับบรรดาคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ ไทย ที่สำคัญการเคลื่อนไหวนี้ของสหรัฐจะสร้างความยุ่งยากแก่บริษัทต่างๆที่ใช้อาหารทะเลจากฝูงเรือไต้หวัน
“ฝูงเรือประมงสัญชาติไต้หวันในน่านน้ำลึกจำนวนมากไม่ได้รับการตรวจสอบ และไม่มีการกำกับดูแลจากบริษัทต่างๆและรัฐบาลสหรัฐก็มีหลักฐานว่ามีการบังคับใช้แรงงานอย่างมากในอุตสาหกรรมประมงนี้”เฉิน กล่าว
ด้านสำนักงานประมงไต้หวัน ระบุว่า การรวมไต้หวันเข้าไว้ในลิสต์รายการสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือบังคับใช้แรงงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐเป็นเรื่อง“โชคร้าย”พร้อมทั้งระบุว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไปยังสหรัฐในขณะนี้ยังเหมือนเดิม ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้
ส่วนสมาคมประมงไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มบริษัทประมงและเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลทางการเมืองของไต้หวัน ประณามการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐพร้อมทั้งตำหนิกรีนพีซที่ส่งข้อมูลให้แก่รัฐบาลวอชิงตัน ทั้งยังขู่ที่จะฟ้องเอ็นจีโอหากว่าทางการสหรัฐห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากน่านน้ำไต้หวัน
แต่สหรัฐไม่ใช่ประเทศแรกที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ ไต้หวันได้รับ“ใบเหลือง”จากคณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี)เมื่อปี 2558ในฐานะทำการประมงไม่ถูกกฏหมาย หมายความว่าหากมีการทำผิดอีกครั้งอีซีจะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากไต้หวันทันที ซึ่งการตัดสินใจของอีซี นอกจากพิจารณาเรื่องการประมงผิดกฏหมายแล้ว ยังพิจารณาเรื่องแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลด้วย ครอบคลุมการบังคับใช้แรงงาน และฝูงเรือประมงก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน
ต่อมาในปี 2562 อีซีได้ถอนใบเหลืองออกไปหลังจากคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของไต้หวันออกมาตรการตรวจสอบการประมงผิดกฏหมายและแก้ปัญหาด้านแรงงาน ทำให้ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวินของไต้หวันชื่นชมการเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาด้านแรงงานครั้งนี้ แม้ว่าประชาชนและข้าราชการจำนวนมากวิจารณ์อุตสาหกรรมประมงไต้หวันที่ปฏิบัติต่อแรงงานอพยพจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเลวร้าย
นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดโศกนาฏกรรมสะพานถล่มในภาคตะวันออกของไต้หวันเมื่อเดือนต.ค.ปี 2562 จนส่งผลให้ชาวประมงเสียชีวิต 6 คนและท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งจำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราวนั้น นางไช่ ให้สัญญาว่าจะรีบเคลียร์เศษซากปรักหักพังของสะพานที่ถล่มลงมาแต่ไม่ได้พูดถึงการเสียชีวิตของชาวประมงทั้ง6คนแต่อย่างใด