‘พาสปอร์ตวัคซีน’เพื่อนร่วมเดินทางในปีหน้า

‘พาสปอร์ตวัคซีน’เพื่อนร่วมเดินทางในปีหน้า

‘พาสปอร์ตวัคซีน’เพื่อนร่วมเดินทางในปีหน้า ถือเป็นการทำหนังสือรับรองด้านดิจิทัลที่อาจจะต้องนำออกแสดงเมื่อต้องเข้าชมคอนเสิร์ต เข้าชมการแสดงหรือเข้าชมการแข่งขันกีฬาภายในสนามกีฬา เข้าชมภาพยนต์ในโรงภาพยนต์ และเข้าไปติดต่องานในสำนักงานต่างๆ

ตอนนี้หลายประเทศของโลกเริ่มฉีดวัคซีนให้พลเมืองในประเทศ รวมทั้งในสหรัฐและยุโรป ทำให้ผู้คนเกิดความหวังว่าอีกไม่นานเกินรอ พวกเขาจะได้เดินทางท่องเที่ยว ช็อปปิ้งและไปดูหนังตามโรงภาพยนต์ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง แต่การจะทำกิจกรรมต่างๆดังที่กล่าวมาได้ คุณอาจจะต้องทำบางอย่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากแค่การฉีดวัคซีน นั่นคือการกรอกแบบฟอร์มเพื่อสมัครขอหนังสือเดินทางวัคซีน

บริษัทหลายแห่งและกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาแอพฯสมาร์ทโฟนหรือพัฒนาระบบเพื่อให้ลูกค้าแต่ละคนได้อัพโหลดรายละเอียดต่างๆของการทดสอบโควิด-19 และการฉีดวัคซีน ถือเป็นการทำหนังสือรับรองด้านดิจิทัลที่อาจจะต้องนำออกแสดงเมื่อต้องเข้าชมคอนเสิร์ต เข้าชมการแสดงหรือเข้าชมการแข่งขันกีฬาภายในสนามกีฬา เข้าชมภาพยนต์ในโรงภาพยนต์ เข้าไปติดต่องานในสำนักงานต่างๆ หรือแม้แต่เดินทางเข้าประเทศต่างๆ

“คอมมอน ทรัสต์ เน็ตเวิร์ก” โครงการริเริ่มของคอมมอน โปรเจค แอนด์ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม มีฐานดำเนินงานอยู่ในเจนีวา จับมือเป็นพันธมิตรกับสายการบินชั้นนำโลกหลายแห่ง รวมถึงคาเธ่ย์ แปซิฟิก เจทบลู ลุฟต์ฮันซา สวิส แอร์ไลน์ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และเวิร์จิน แอตแลนติก รวมทั้งระบบประกันสุขภาพทั่วสหรัฐหลายร้อยแห่งและรัฐบาลแห่งอารูบา ได้จัดทำแอพพลิเคชัน “คอมมอนพาสส์”เพื่อให้ผู้ใช้ได้อัพโหลดข้อมูลทางการแพทย์

อาทิ ผลการทดสอบโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผลการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลต่างๆหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ถือเป็นการออกใบรับรองทางด้านสุขภาพ หรือใบรับรองในรูปแบบคิวอาร์โค้ด ที่สามารถนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหว ในส่วนของการเดินทาง แอพฯนี้จะมีลิสต์รายการที่เป็นข้อกำหนดด้านสุขภาพตามจุดต่างๆทั้งการเดินทางขาเข้าและขาออก

“คุณจะถูกตรวจสอบทุกครั้งที่คุณเดินทางข้ามพรมแดน แต่คุณไม่สามรถฉีดวัคซีนทุกครั้งที่เดินทางข้ามพรมแดนได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีใบรับรองเพื่อให้ผ่านเข้า-ออกได้สะดวกนั่นคือ”บัตรเหลืองดิจิทัล“ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดแล้ว”โธมัส แครมป์ตัน หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการสื่อสารของคอมมอนส์ โปรเจค กล่าว

บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ก็เร่งดำเนินการในเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไอบีเอ็ม กำลังพัฒนาแอพฯของตัวเองมีชื่อว่า “ดิจิทัล เฮลธ์ พาสส์ ”ซึ่งอนุญาตให้บริษัทต่างๆจัดทำตัวบ่งชี้ที่จะใช้เป็นข้อกำหนดในการเข้าไปในที่ต่างๆตามที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการทดสอบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การตรวจอุณหภูมิ และบันทึกการฉีดวัคซีน ซึ่งการตอบสนองต่อตัวบ่งชี้ต่างๆจะถูกเก็บไว้ในวอลเล็ทบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม ในความพยายามที่จะรับมือกับความท้าทายในเรื่องนี้ในการหวนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติหลังจากประชากรโลกได้รับการฉีดวัคซีนในวงกว้างแล้ว แต่บรรดานักพัฒนาทั้งหลายก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านอื่นๆ ตั้งแต่ประเด็นความเป็นส่วนตัวไปจนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทต่างๆ

ประเด็นความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทันทีที่จัดทำพาสปอร์ตวัคซีนเสร็จ บริษัทต่างๆจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้คนทั่วโลกจะใช้หนังสือเดินทางนี้ด้วยความสบายใจ เพราะข้อมูลทางการแพทย์ที่ถือเป็นข้อมูลอ่อนไหวส่วนบุคคลต้องได้รับการปกป้องอย่างปลอดภัย

คอมมอนพาสส์ ไอบีเอ็ม และมูลนิธิลินุกซ์ ต่างเน้นย้ำถึงความเป็นส่วนตัวว่าเป็นหัวใจของโครงการริเริ่มนี้ โดยไอบีเอ็มบอกว่าอนุญาตให้ผู้ใช้ควบคุมและยินยอมให้ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพและอนุญาตให้พวกเขาเลือกระดับของรายละเอียดที่ต้องการมอบให้แก่เจ้าหน้าที่

“ความไว้วางใจและความโปร่งใสยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆในการพัฒนาแพลทฟอร์มที่เราเรียกว่าพาสปอร์ตสุขภาพด้านดิจิทัล หรือการแก้ปัญหาต่างๆที่ต้องรับมือกับข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อน”คอมมอนพาสส์ ระบุ

อีกความท้าทายที่ต้องคำนึงถึงในการทำพาสปอร์ตวัคซีนนั่นคือ วัคซีนที่ผู้ถือพาสปอร์ตได้รับการฉีดมาเป็นวัคซีนของบริษัทใด เป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ เป็นวัคซีนของบริษัทสัญชาติรัสเซีย หรือเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทจีน ตัวอย่างเช่น วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทซิโนฟาร์มของจีนจะให้ผลในการต้านเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธํุใหม่ 86% ขณะที่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ให้ผลในการต้านไวรัสประมาณ 95%

ดร.จูลี พาร์ซอนเนต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้ความเห็นว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าร่างกายจะมีประสิทธิภาพมากพอหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างแท้จริงหรือไม่ขณะที่คุณยื่นพาสปอร์ตวัคซีนเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันได้ว่าคุณจะปลอดภัยเมื่อเข้าไปในประเทศใดประเทศหนึ่ง เข้าไปในงานอีเวนท์ หรือแม้แต่ขึ้นเครื่องบิน