‘ความไม่มั่นคงด้านอาหาร’ปัญหาแก้ไม่ตกของเอเชีย
‘ความไม่มั่นคงด้านอาหาร’ปัญหาแก้ไม่ตกของเอเชีย ขณะที่แม่และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวด้านทุพโภชนาการมากที่สุด มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ยาวนานที่สุด
โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี)องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) องค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ)เผยแพร่รายงานที่บ่งชี้ว่า ประชากรโลกที่เผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นสองเท่าเป็น 265 ล้านคนในปี 2563 โดยโครงการอาหารโลกเจอปัญหามีงบประมาณจำกัด ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายนี้
รายงานล่าสุดที่หน่วยงานในยูเอ็นร่วมกันจัดทำฉบับนี้ ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19อาจจะลบข้อดีมากมายในด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาการลงทุนเพื่อปกป้องทางสังคม
รายงานยังระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประมาณ 140 ล้านคนอยู่ในสถานะยากจนอย่างรุนแรงและเพิ่มจำนวนประชากรที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหารสองเท่าตัวเป็น 265 ล้านคน และภูมิภาคนี้ยังประสบความล้มเหลวในการบรรลุเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น โดยเฉพาะยุติความหิวโหยและทุพโภชนาการให้ได้ภายในปี 2573
“เรามีภารกิจใหญ่รออยู่ข้างหน้าและมีเวลาจำกัดมากในการทำให้ภารกิจใหญ่นี้ลุล่วง”จอง-จิน คิม ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของเอฟเอโอ กล่าว และคิมยังมีความเห็นว่าความสูงและน้ำหนักของเด็กในภูมิภาคนี้ไม่ได้เกณฑ์สำหรับเด็กกลุ่มอายุเท่ากันในภูมิภาคอื่นๆ
ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการยังไม่มีความชัดเจน รายงานฉบับนี้ ระบุว่า แม่และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวด้านทุกโภชนาการมากที่สุด มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ยาวนานที่สุด
ภาวะทุพโชนาการอยู่ในขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาเด็กเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะต่อทุนมนุษย์ของภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีสภาพร่างกายแคระแกนในภูมิภาคนี้มีประมาณ 74.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กในภูมิภาคเอเชียใต้
รายงานฉบับนี้มีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจในเอเชียเริ่มฟื้นตัว โดยรัฐบาลประเทศต่างๆและพาดหัวข่าวของสื่อต่างๆพร้อมใจประโคมข่าวการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น อานิสงส์จากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาในเอเชียจะฟื้นตัว 6.8% ในปีนี้
แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบดั้งเดิมที่เน้นเรื่องการกินดีอยู่ดีกลับต่ำกว่าเกณฑ์ในมุมมองของคณะเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ เช่น มีครัวเรือนจำนวนมากที่มีอาหารรับประทานครบมื้อในแต่ละวัน โดยภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก เป็นบ้านของประชากรที่เผชิญภาวะทุพโภชนาการในสัดส่วนประมาณ 51%ของประชากรในกลุ่มนี้ของโลกที่มีจำนวน 687.8 ล้านคน
“การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ขณะที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยให้หมดไปได้อย่างแท้จริง”จอห์น อายลิฟฟ์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของดับเบิลยูเอฟพี กล่าว
ถ้าการคาดการณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ที่บอกว่าตำแหน่งงานเกือบ200 ล้านตำแหน่งจะหายไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19เป็นเรื่องจริง ภูมิภาคเอเชียจะได้เห็นภาวะการเติบโตที่ชลอตัวลงของชนชั้นกลางและการพัฒนาโดยรวมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ
“การชลอตัวทางเศรษฐกิจที่สะสมมาเรื่อยๆเริ่มแสดงผลอย่างช้าๆและปีนี้จะเป็นปีแห่งความเป็นจริงที่สาหัสสากรรจ์มากขึ้น”อายลีฟ กล่าว
ขณะที่ช่องว่างในเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมในเอเชียเด่นชัดกว่าภูมิภาคอื่น โดย7ใน10ของแรงงานในภูมิภาคนี้ทำงานในรูปแบบไม่เป็นทางการและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสวัสดิการของรัฐบาล ล่าสุด รัฐบาลเมียนมาและฟิลิปปินส์ต้องพึ่งพาฐานข้อมูลที่สร้างโดยดับเบิลยูเอฟพี เพื่อจำแนกครัวเรือนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อีกทั้งบ่อยครั้งที่มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นและจำกัดการเข้าถึงอาหาร
อัตราการว่างงานในฟิลิปปินส์ ซึ่งประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์นานที่สุดในโลก เพิ่มขึ้น 17.6% ในเดือนเม.ย.ก่อนที่จะปรับตัวร่วงลงมาอยู่ที่ 8.7% ในเดือนต.ค.แต่ยังคงสูงกว่า 5.3%ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว
แค่สองอาทิตย์ในศูนย์กักกันในกรุงมะนิลา ชาวบ้านใน“ซิติโอ ซาน โร๊ค” หนึ่งในกลุ่มตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ ไม่สามารถหารายได้จากการทำงานรายวันได้และไม่มีเงินซื้อสิ่งของจำเป็นใดๆได้เลยในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ในที่สุด ทหารได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม พร้อมทั้งจับกุมผู้ต่อต้านการกักกันตัวไปได้21คน และทางการได้ประกาศห้ามการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก
“เราไม่มีข้าวจะกิน และไม่มีเงินใช้ ขณะที่บิลล์ค่าน้ำปะปาและค่าไฟก็ครบกำหนดที่ต้องจ่ายแต่ใครจะจ่ายได้ในเมื่อเราไม่มีงานทำ”ผู้นำชุมชนบอกกับผู้สื่อข่าวในขณะนั้น