สัมพันธ์แกร่งออสเตรเลีย-ไทยรากฐานความร่วมมือสู่อาเซียน

สัมพันธ์แกร่งออสเตรเลีย-ไทยรากฐานความร่วมมือสู่อาเซียน

สัมพันธ์แกร่งออสเตรเลีย-ไทยรากฐานความร่วมมือสู่อาเซียน โดยออสเตรเลียกับไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีกันที่ดีมากกันอยู่แล้วเป็นพื้นฐานการค้าระหว่างสองประเทศ

ออสเตรเลียกับไทยเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาเนิ่นนานนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2495 และเนื่องในโอกาสวันชาติออสเตรเลีย 26 ม.ค. อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และประเด็นร้อนที่น่าจับตาในเวทีโลก

ทูตแมคคินนอน เล่าว่า ออสเตรเลียและไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก การค้าไทย-ออสเตรเลียติดอันดับท็อปเท็น การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นมาก บริษัทใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในออสเตรเลีย เช่น มิตรผล บ้านปู และอื่นๆ อีกหลากหลายสาขา การค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ออสเตรเลียสนใจการฟื้นตัวของไทยหลังโควิดที่การค้าไม่ได้แย่ลงมากนัก

“เราร่วมมือกันมายาวนานในด้านกลาโหมซึ่งสำคัญยิ่ง การทหารของเราค่อนข้างใกล้ชิดกันมาก ทัพบก ทัพเรือ อากาศของเราซ้อมรบกันบ่อยครั้ง ต่างฝ่ายต่างส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมระหว่างกัน” ทูตเริ่มต้นที่ความร่วมมือทางการทหาร รวมถึงการแบ่งปันข่าวกรองด้านความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ ยาเสพติด ที่นำไปสู่ความร่วมมือด้านตำรวจที่ดีต่อกันมาตลอด 40 ปีของการก่อตั้งสำนักงานตำรวจกลางออสเตรเลีย ทั้งยังมีความร่วมมือด้านการป้องกันพรมแดน ความมั่นคงของสนามบินระหว่างกันด้วย

ด้านการศึกษาตอนสถานการณ์ปกติมีนักศึกษาไทยในออสเตรเลีย 20,000 คน และนักศึกษาออสเตรเลียตามแผนการโคลอมโบใหม่ เข้ามาศึกษาในไทยทั่วประเทศในสาขาต่างๆ เช่น สถาปัตยกรรม แพทย์ เศรษฐศาสตร์

จากไทยขยับสู่อาเซียน ทูตแมคคินนอนกล่าวต่อว่า ออสเตรเลียมีนโยบาย ASEAN Centric Forum ด้วยมองว่าอาเซียนมีความสำคัญกับออสเตรเลียมาก เพราะเป็นหัวใจหลักของภูมิภาคในมิติด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ภายใต้อาเซียนเรามีเพื่อนบ้านที่ร่วมมือกันอย่างมาก และเรามองไทยในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญในการเข้าสู่อาเซียน” 161162208032

ความร่วมมือออสเตรเลีย-ไทย ในบริบทอาเซียน เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำโขง รัฐบาลออสเตรเลียให้งบประมาณช่วยเหลือประเทศแถบนี้รวมทั้งในรูปของความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทูตเล่าว่า ส่งความช่วยเหลือมาให้ไทยด้วยเช่นกัน “แต่เพียงเล็กน้อย” เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงด้านเทคโนโลยีการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน

ไม่เพียงเท่านั้นออสเตรเลียและไทยยังเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร (Cairns Group) จากความร่วมมือที่ทูตกล่าวมา เรียกได้ว่า ออสเตรเลียร่วมมือในทุกด้านกับไทยตลอดเกือบ 70 ปีนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ประชาชนทั้งสองประเทศต้องจดจำคือตอนที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนออสเตรเลียเมื่อปี 2505

“พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ใช่ราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นชาวออสเตรเลียตื่นเต้นกันมาก พระองค์ตรัสว่า ประเทศไทยไม่ใช่ตะวันออกไกลสำหรับออสเตรเลีย แต่เป็น Near North ซึ่งก็ถูก นี่คือภูมิปัญญาของพระองค์ ทุกวันนี้เราก็มองไทยแบบนี้แต่พระองค์ตรัสไว้นานแล้ว” ทูตออสเตรเลียกล่าวอย่างภาคภูมิใจพร้อมเสริมว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์ในนครซิดนีย์ และฝึกอบรมด้านการทหารที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน

“ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทยกับออสเตรเลียมีส่วนสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ซึ่งออสเตรเลียภาคภูมิใจมากความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนก็เช่นกัน คนออสเตรเลียชอบทำงานกับคนไทยและบริษัทไทย เป็นความสัมพันธ์แบบสบายๆ ผมมั่นใจว่าอนาคตจะดียิ่งๆ ขึ้นไป”

ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยผู้นำทั้งสองได้ลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย เปิดช่องพัฒนาความสัมพันธ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

161162210912

ปัจจุบันทั้งไทยและออสเตรเลียเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เมื่อถามถึงความคืบหน้า ทูตออสเตรเลียกล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติ แน่นอนว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด อย่างไรก็ตาม 15 ประเทศที่ร่วมลงนามอาร์เซ็ปถือเป็นสัดส่วนใหญ่ในจีดีพีโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่ในทัศนะของทูตสิ่งต่างๆ จะค่อยๆ ดำเนินไปเหมือนกับข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหลาย

ออสเตรเลียกับไทยก็มีข้อตกลงการค้าเสรีกันที่ดีมากกันอยู่แล้ว เป็นพื้นฐานการค้าระหว่างสองประเทศ การมีข้อตกลงการค้าเพิ่มเติมที่มีอาเซียนทั้งหมดรวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เข้าร่วมด้วยยิ่งช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงนี้เนื่องจากสองปีที่ผ่านมากมีความกังวลเรื่องโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า ยิ่งมีโควิดรัฐบาลอาจไม่โฟกัสที่การค้า การลงทุนได้มากเหมือนก่อน

"อาร์เซ็ปเป็นสิ่งดีเราหวังว่าอินเดียจะลงนามด้วย ซึ่งอินเดียก็เปิดกว้างที่จะทำถือเป็นพัฒนาการที่ดี สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ที่มีมุมมองเรื่องข้อตกลงการค้าแตกต่างออกไป และอาจจะกลับมาเป็นพันธมิตรในข้อตกลงการค้ากับแปซิฟิกอีกครั้งก็ต้องรอดูการบริหารงานของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน"

ส่วนข้อพิพาทการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีน ทูตยอมรับว่า น่ากังวล จีนใช้วิธีสร้างความปั่นป่วนทางการค้าขึ้นภาษีและตั้งข้อจำกัดสินค้าออสเตรเลียหลายรายการ เช่น เนื้อวัว ไม้ ล็อบสเตอร์ ไวน์ เรียกได้ว่าสินค้าสำคัญเกือบทุกชนิด รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเปิดกว้างในการเจรจากับจีน แต่จีนไม่ตอบรับ จึงต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)