‘การทูตวัคซีน’ แก้ปัญหาโควิดระบาด

‘การทูตวัคซีน’ แก้ปัญหาโควิดระบาด

การสรรหาวัคซีนคุณภาพ เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ในการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสรับวัคซีนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม

"ธานี แสงรัตน์" อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้สรรหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 และผลักดันให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

       ในปัจจุบัน มีบริษัทเภสัชกรรมและสถาบันวิจัยระดับโลกหลายแห่ง คิดค้นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จ จึงเป็นทางเลือกเพื่อเข้าถึงวัคซีนที่หลากหลาย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้ "การทูตเพื่อวัคซีน" ช่วยในการ “เปิดประตู” เจรจากับองค์กรต่างๆ หลายภาคส่วน   โดยสถานทูตไทยในต่างประเทศใช้เครือข่ายที่มีอยู่เริ่มพูดคุย และไม่ใช่แค่ในยุโรปเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี และจีน

“กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการทูตเพื่อวัคซีนช่วยส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย โดยใช้เครือข่ายของสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ เปิดประตูการเจรจาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับองค์กรต่าง ๆ และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศ เช่น แอสตร้าเซนเนก้าของสหราชอาณาจักร และซิโนแวค ไบโอเทคของจีน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เล่า 

ขณะที่ประเด็นการผลักดันให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สำหรับประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นในการเลือกใช้วัคซีนว่าต้องมาจากแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเจรจาระดับรัฐบาล บริษัทเอกชน และสถาบันวัคซีนในหลายประเทศ เพื่อสามารถจัดซื้อในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ และได้มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีบทบาทให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชาที่มีชายแดนติดต่อกับไทย ซึ่งเป็นภารกิจสาธารณสุขไร้พรมแดน เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไทก้า) กระทรวงการต่างประเทศ ได้ช่วยประสานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ให้การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างยั่งยืน เพราะการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน อยู่บนพื้นฐานที่ว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการพึ่งพาต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทย และการระบาดของไวรัสชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน

161172536246

แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นอุปสรรคจนทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สร้างผลลัพธ์ดีเยี่ยม ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความร่วมผ่านการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ (Medical Consultation) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมา สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก แนวทางการรักษาคนไข้โรคโควิด-19 การใช้อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 

ล่าสุด ไทก้าร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการช่วยฝ่ายเมียนมา พัฒนารูปแบบห้องปฏิบัติการที่สามารถใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพสูง และใช้งบประมาณไม่มาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ (แล็ป) เป็นการให้ความช่วยเหลือระยะยาวเพื่อเพิ่มศักยภาพการตรวจเชื้อของห้องแล็ปทั้งตามชายแดน และเมืองหลวง

161172547883

นอกจากนี้ ยังสร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ มุ่งเน้นแนวชายแดนไทย - กัมพูชา - ลาว – เมียนมา โดยการสร้างโมเดลความร่วมมือที่สามารถขยายขอบข่ายคลอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งชุมชนชาวไทยแรงงานข้ามชาติ และชุมชนชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นเร่งด่วน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทิลเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแนวการดำเนินงานการทูตเพื่อการพัฒนาตามวิถีใหม่

เป้าหมายของการทำงานสาธารณสุขแบบไร้พรมแดนนี้ ต้องการรูปแบบตัวอย่างที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการทำงานความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์และที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ความพร้อมสนับสนุนให้ประชาชนประเทศเพื่อนบ้านมีสุขภาพที่ดี เป็นปัจจัยเอื้อที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในประชาคมอาเซียน

161172544925

ส่วนเวทีความร่วมมือในระดับภูมิภาค "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งบรูไนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบทางไกลในสัปดาห์ที่แล้ว ในการมุ่งสานต่อผลประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 37 เพื่อใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย ในการจัดหาวัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานงานกับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Center) ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อรับสิ่งของช่วยเหลือของอาเซียนในคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน (DELSA Satellite Warehouse) ที่ตั้งอยู่ที่ จ.ชัยนาท เพื่อสนับสนุนการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนมาก เช่น เต็นท์สำหรับครอบครัวและชุดสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งนี้ คลังสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียนสามารถส่งสิ่งของช่วยเหลือไปยัง 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนามได้ภายใน 24 ชั่วโมง