จับตาสัญญา 'กองทัพเมียนมา' คืนอำนาจประชาชน
จับตาสัญญา "กองทัพเมียนมา" คืนอำนาจประชาชน และกองทัพเมียนมา ยังยืนยันปฏิบัติการเมื่อวันที่1 ก.พ. ไม่ใช่รัฐประหาร แต่เป็นปฏิบัติการแห่งความชอบธรรม
กองทัพเมียนมาแถลงยืนยันวานนี้ (16ก.พ.)ว่าการยึดอำนาจและการจับกุมผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการรัฐประหารแต่เป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องเพราะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ย.เป็นการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ฉ้อโกงและจะคืนอำนาจทันทีหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหม่
“เป้าหมายของเราคือการจัดเลือกตั้งใหม่และคืนอำนาจให้แก่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง”พลจัตวาซอ มิน ทุน โฆษกกองทัพเมียนมา กล่าวในโอกาสแถลงข่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงครั้งนี่้ กองทัพไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี
ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เรียกร้องกองทัพเมียนมา ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนซึ่งประท้วงอย่างสันติ และเตือนว่าจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดหากยังไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่าเจ้าหน้าที่อดกลั้นที่สุดแต่พร้อมใช้ไม้แข็งหากว่าจำเป็น
“คริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์” ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของยูเอ็น ได้หารือทางโทรศัพท์กับพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ เมื่อวันจันทร์(15ก.พ.)ที่ผ่านมา โดยชราเนอร์ บัวเกอเนอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในการชุมนุมอย่างสันติ พร้อมทั้งย้ำว่าประชาคมโลก กำลังจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และจะมีการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดหากฝ่ายความมั่นคงของเมียนมายังคงใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง
ถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักเมื่อกองทัพเมียนมาติดต่ออย่างเป็นทางการกับโลกภายนอก นับตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจแต่ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมียนมา นับตั้งแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ขณะที่องค์กรสังเกตการณ์อิสระเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่ชื่อ เน็ตบล็อกส์ รายงานว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตของเมียนมาว่า ลดลงเหลือเพียง 15% จากระดับปกติ เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร ถือเป็นคืนที่สองติดต่อกัน และเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลทหารใช้วิธีตัดอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์เป็นระยะโดยแต่ละครั้งกินเวลานานหลายชั่วโมง
ส่วนความคืบหน้าในการชุมนุมประท้วง ผู้ประท้วงต่อต้านกองทัพเมียนมาขวางการให้บริการของขบวนรถไฟจากเมืองย่างกุ้งสู่เมืองมะละแหม่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันบริเวณเส้นทางรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้า จากเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ไปยังเมืองมะละแหม่ง ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงจุดยืนอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้บริการรถไฟในเส้นทางดังกล่าวต้องหยุดให้บริการ
นอกจากนี้ ยังคงมีการประท้วงในเมืองใหญ่ทั้งในกรุงเนปิดอว์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งพื้นที่ชุมนุมส่วนใหญ่ยังเป็นมหาวิทยาลัย และหน้าธนาคารกลางประจำแต่ละภูมิภาค หรือจัตุรัสใจกลางเมือง โดยที่เมืองย่างกุ้ง ยังคงมีการรวมตัวของประชาชน กระจายกันไปตามหน้าสถานเอกอัครราชทูตจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐ และสหราชอาณาจักร