เปิด‘แผน 5 ปี’อินโดนีเซียแหล่งผลิต‘แบตเตอรี่’รถอีวี
เปิด‘แผน 5 ปี’อินโดนีเซียแหล่งผลิต‘แบตเตอรี่’รถอีวี ขณะความต้องการรถไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและประเทศต่างๆกำลังหาช่องทางห้ามให้มีการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตอันใกล้
“อินโดนีเซีย” ประกาศแผนการใหญ่ ผลักดันตนเองเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าโลก ตั้งเป้าใน 5 ปีต้องมีอุตสาหกรรมครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ทำเหมืองวัตถุดิบใช้ในแบตเตอรี่รถอีวี ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า
แผนมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ถูกออกแบบมาเพื่อให้อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ก้าวขึ้นมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในตลาดรถอีวีโลกขณะที่ความต้องการรถไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและและในอนาคตอันใกล้ประเทศต่างๆ จะห้ามขายรถยนต์ใช้น้ำมันมากขึ้น
ภายใต้แผนการนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิงส์แห่งใหม่ซึ่งเป็นของรัฐบาลเพื่อกำกับดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ โดยกระทรวงกิจการวิสาหกิจของรัฐบาล ระบุว่าบริษัทของรัฐบาลทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ บริษัทเหมืองมายด์ไอดี, บริษัทเหมืองอเนกาตัมบัง, บริษัทน้ำมันเปอร์ตามินา และบริษัทไฟฟ้าพีแอลเอ็นได้ลงนามข้อตกลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 16มี.ค. ตั้งบริษัทใหม่ชื่ออินโดนีเซีย แบตเตอรี่ คอร์พอเรชัน (ไอบีซี)ซึ่งแต่ละบริษัทถือหุ้น25%
“ไอบีซีจะทำหน้าที่บริหารจัดการระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับฝ่ายที่สามซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหรรมเทคโนโลยีและตลาดโลก”แถลงการณ์จากกระทรวงกิจการวิสาหกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุ
กระทรวงกิจการวิสาหกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุด้วยว่าความเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้ครอบคลุมถึงการร่วมทุนในระบบห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิตนิกเกิล วัตถุดิบในขั้นเริ่มต้น แคโทด เซลล์แบตเตอรี่ ระบบการเก็บพลังงานแบตเตอรี่ไปจนถึงการรีไซเคิลและที่ผ่านมาไอบีซีได้รับการติดต่อจากหลายบริษัททั่วโลก ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ และยุโรป
ค่ายรถอีวีสัญชาติอเมริกันอย่างเทสลาก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า บริษัทบีเอเอสเอฟ ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ก็สนใจที่จะหารือเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ด้วย
“ปีนี้เราจะเริ่มลงทุนเพื่อพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่ นี่จะเป็นการลงทุนโดยตรงเพื่อผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทรัฐวิสาหกิจ4แห่ง และ 6 เดือนนับจากนี้ไปแอนแทม (มายด์ไอดีและอเนกาตัมบัง)และหุ้นส่วนทั้งหมดจะเริ่มศึกษา เมื่อศึกษาเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาวัตถุดิบที่มาจากเหมือง ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรง โดยเฉพาะการพลิกฟื้นเศรษฐกิจตามเป้าที่เราวางไว้”พาฮาลา แมนซูรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ กล่าวในการประชุมทางออนไลน์เมื่อวันศุกร์(26มี.ค.)ที่ผ่านมา