ผ่าแผนเพื่อนบ้านอาเซียนลุย 'ฟื้นเศรษฐกิจ'

ผ่าแผนเพื่อนบ้านอาเซียนลุย 'ฟื้นเศรษฐกิจ'

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาดมานานกว่า 1 ปี เกิดระลอกใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า นานาประเทศต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายรอบ พร้อมๆ กับการเร่งฉีดวัคซีน

เว็บไซต์ marketresearchsoutheastasia.com รายงานว่า ปีนี้เพื่อนบ้านอาเซียน 5 ประเทศใหญ่ทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซียต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของตนจะเติบโตขึ้น แต่ละประเทศมีแผนกระตุ้นภาคธุรกิจชั้นนำเพื่อเร่งเศรษฐกิจให้กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดระบาด

++สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ทุกคนภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ พร้อมกับเดินหน้าสนับสนุนภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและฟื้นกิจกรรมการท่องเที่ยว รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโต 4%-6% ส่วนใหญ่มาจากภาคก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างมาก 24% และภาคการขนส่งโต 27% จากเดิมในเดือน ม.ค.ที่เคยคาดการณ์จีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.8%

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เฮง สวีเกียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ แถลงงบประมาณ 2564 ต่อสภาจัดสรรเงิน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ไว้เป็นมาตรการฟื้นตัวจากโควิด-19 เน้นใน 3 เรื่องคือ 1.ดูแลด้านสาธารณสุขและเปิดเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ได้แก่ การฉีดวัคซีน คงมาตรการป้องกันและระบบป้องกันหลายชั้นไม่ว่าการตามรอยโรค ตรวจหาเชื้อ และรักษาระยะห่าง

2.สนับสนุนแรงงานและภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยจะปรับเพื่อให้ภาคส่วนที่เติบโตสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินชั่วคราวแก่แรงงานที่ต้องตกงาน หรือจำใจลางานโดยไม่ได้ค่าจ้างผลจากการระบาดของโควิด-19

3.สนับสนุนภาคส่วนที่ยังคงเผชิญความยากลำบาก เช่น ภาคการบิน การขนส่งทางบก ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา การทุ่มงบประมาณด้านนี้สำคัญยิ่งเพื่อรักษาขีดความสามารถหลักและสถานะอันแข็งแกร่งที่สิงคโปร์เพียรสร้างมานานหลายปี

++มาเลเซีย

ธนาคารกลางมาเลเซียแถลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค. จีดีพีปี 2563 ติดลบ 5.6% ตกต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 2541 ส่วนปีนี้คาดว่า จีดีพีขยายตัวระหว่าง 6%-7.5%

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาเลเซีย คือ ความต้องการจากภายนอกปรับตัวดีขึ้น มาตรการสกัดโควิดคลายตัวลง ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ตลาดแรงงานค่อยๆ ปรับตัวดีกว่าเดิม ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมที่ยังคงมีอยู่และการผลิตใหม่

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางมาเลเซียย้ำถึงการสนับสนุนด้านนโยบายที่ครอบคลุมและเสริมกันอย่างที่เคยทำมาต้องทำต่อไปในฐานะหัวใจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการอัดฉีดทางการคลังเพื่อผ่อนคลายภาวะเงินขาดมือ สนับสนุนตลาดแรงงาน ประคองการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น โอนเงินสดให้ครัวเรือน อุดหนุนค่าจ้าง สร้างแรงจูงใจทางภาษีที่หลากหลาย รวมถึงการลดภาษี

นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย แถลงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่วงเงิน 2 หมื่นล้านริงกิต (4.8 พันล้านดอลลาร์)เมื่อวันที่ 17 มี.ค. หนึ่งปีหลังจากมาเลเซียล็อกดาวน์ครั้งแรกเพื่อควบคุมโควิด-19 ถือเป็นมาตรการชุดที่ 6 นับตั้งแต่โควิดระบาด

แผนการประกอบด้วย 20 โครงการยุทธศาสตร์หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งเสริมภาคธุรกิจ ขยายความช่วยเหลือให้กับประชาชนและภาคส่วนที่เดือดร้อน ขณะนี้มาเลเซียอยู่ในขั้นที่ 5 ของแผนเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างครอบคลุมซึ่งพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจได้เริ่มต้นอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลมาเลเซียเคยออกมาตรการกระตุ้นมาแล้ว 5 รอบวงเงิน 2.5 แสนล้านริงกิต 1 หมื่นล้านริงกิต 3.5 หมื่นล้านริง กิต 1 หมื่นล้านริงกิต และ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมมาตรการชุดที่ 6 วงเงินทั้งหมด 3.4 แสนล้านดอลลาร์

ต่อมานายฮิชามนุดดิน ฮุสเซ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย แถลงเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะไปเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการและพบกับนายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง ในวันที่ 4 พ.ค. คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องการเปิดพรมแดนระหว่างกันอีกครั้งด้วย จากที่ต้องปิดไปเพื่อควบคุมโควิด

++อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียก็เช่นเดียวกับสิงคโปร์ คาดการณ์จีดีพีปีนี้โตระหว่าง 4.5%-5.5% โครงการฉีดวัคซีนตั้งเป้าทะลุ 70% ของประชากรทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.2565

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังมีแผนจัดสรรงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกือบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เน้นการสร้างทางด่วน สนามบิน โรงไฟฟ้า โครงการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อภายในประเทศที่ลดลงอย่างมากในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ระดับประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียอาจเจออุปสรรคด้านการขนส่งเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และประชากรกระจายกันอย่างซับซ้อน

++ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์แตกต่างจากประเทศอื่นที่คาดการณ์จีดีพีไว้สูงกว่าเพื่อนบ้านอยู่มาก เนื่องจากเปิดดำเนินการกิจกรรมเศรษฐกิจอีกครั้ง พร้อมด้วยโครงการจูงใจทางภาษี หวังพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและปรับเวทีให้ภาคธุรกิจแข่งกันกันอย่างเป็นธรรม ทางการฟิลิปปินส์คาดว่า ปีนี้จีดีพีขยายตัว 6.5%-7.5%

++เวียดนาม

แชมป์เศรษฐกิจฟื้นตัวปี 2563 ตกเป็นของเวียดนาม ขยายตัว 2.9% ในช่วงที่โลกเกิดวิกฤติ จากความสามารถสกัดโควิดได้ดีติดเชื้อรวมราว 2,100 คน การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น จนมั่นใจว่าปี 2564 จีดีพีจะโตได้ถึง 6.5%

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่สหรัฐเก็บภาษีจีนและข้อตกลงการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (อีวีเอฟทีเอ) จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าจีนของเวียดนาม เนื่องจากผู้นำเข้าต้องหาซัพพลายเออร์รายใหม่ที่จัดหาสินค้าราคาถูกกว่าด้วยกระบวนการที่ง่ายกว่า การลดภาษีมีทั้งการผลิตด้านเทคโนโลยี สิ่งทอ เสื้อผ้า และสินค้าเกษตร

เว็บไซต์เวียดนามอินเวสท์เมนท์รีวิวรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะส่งผลดีถึงประเทศตลาดเกิดใหม่มากมาย คาดว่าเวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุดในแง่ของการส่งออกและตลาดหุ้น

ในภาพรวม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ผลงานดีเนื่องจากมีประชากรหนุ่มสาวผู้มีความหวังเป็นจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลยังรับมือวิกฤติโควิดอย่างแข็งขัน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนสนใจภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องสร้างหลักประกันว่าการฉีดวัคซีนได้ผล ก่อนเริ่มต้นเศรษฐกิจแล้วเชื้อเชิญการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวแล้ว

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. สำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้อ้างอิงข้อมูลเว็บไซต์ Our World in Data รายงานสถิติสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ชาวอินโดนีเซียได้ฉีดวัคซีนโควิดราว 3.76% มาเลเซีย 1.8% ฟิลิปปินส์ 0.96% ไทย 0.8% และเวียดนาม 0.1% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 5.76% ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดที่ล่าช้า ย่อมส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ