'รู้จีน เรียนไทย เข้าใจโลก'วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ขึ้นในปี 2477 เพื่อผลิตคนมารองรับการปกครองในระบอบใหม่หลังการอภิวัฒน์สยาม วันเวลาผ่านไปหลายสิบปี โลกเชื่อมกันเป็นหนึ่งในบริบทที่เปลี่ยนไป
ถึงวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบโจทย์โลกด้วย “วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์” (PBIC) Inter College แห่งแรกของมหาวิทยาลัย
อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี PBIC เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปว่า เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเป็นอินเตอร์ในสายสังคมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สอนหลักสูตรประกาศนียบัตรไทยศึกษาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 ชาวต่างชาตินิยมมาเรียน แต่ถ้าพูดถึงหลักสูตรอินเตอร์จริงๆ ธรรมศาสตร์มีสายวิทยาศาสตร์ก่อน ต่อมา ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มีดำริตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร.ปรีดี ที่ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ในยุคนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัย รศ.ดร.พิมพันธุ์เวสสะโกศล และ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต มีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จึงตั้งโครงการจีนศึกษาอินเตอร์ที่แรกในประเทศไทย นักศึกษาไทยมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ เป็นเวลา 1 ภาคเรียนเป็นอย่างน้อย
ถึงสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามความร่วมมือกับนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน สิงห์ แห่งอินเดียขณะมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี 2556 PBIC จึงเปิดหลักสูตรอินเดียศึกษาระดับปริญญาตรี ตามด้วยการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีไทยศึกษา
"การดำเนินงานที่สำคัญที่สุดของ PBIC คือเผยแพร่ความคิดของอาจารย์ปรีดีที่ว่า ทุกชนชาติอยู่ด้วยกันอย่างสันติในโลกได้ในโลกได้อย่างสันติ เรารับนักศึกษาประจำจากต่างประเทศ เขาสนใจเมืองไทยมาก" คณบดีกล่าวและว่า พันธกิจหลักของวิทยาลัยคือผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ไทย จีน อินเดีย ดูแลวิชาพื้นฐานของหลักสูตรอินเตอร์สายสังคมศาสตร์ และดูแลนักศึกษาแลกเปลี่ยนผู้สนใจวิชาเกี่ยวกับประเทศไทย
อาณาบริเวณศึกษา คือ การศึกษาแบบสหวิทยาการ 360 องศา เกี่ยวกับประเทศหรือภูมิภาคหนึ่งๆ เพื่อให้เห็นภาพอย่างกว้างไม่ใช่อย่างลึก เพื่อให้เห็นคน สิ่งที่ PBIC สอนเน้นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา เพราะการจะเห็นคนได้ต้องรู้ภาษา
“การเรียนอาณาบริเวณศึกษาเหมือนการเรียนประเทศอื่น แต่เรียนแล้วต้องมาเปรียบเทียบกับประเทศตนเองโดยอัตโนมัติ ทำให้นักศึกษาเห็นโลกคู่ขนาน ทำไมคนจีนเป็นอย่างนั้น ทำไมคนจีนคิดอย่างนี้”
คณบดีเล่าว่าวิชาที่ฮิตมากในหมู่นักศึกษาต่างชาติคือ “พุทธศาสนาในประเทศไทย” นักศึกษาไม่ใช่แค่มาเรียนในห้อง แต่ได้เรียนสมาธิ ไปศึกษาวิถีชีวิตผู้คนกับพระที่อัมพวา ตื่นเช้าไปตักบาตร “นักศึกษาบางคนอินถึงขนาดไปอยู่วัดเลยก็มี ส่วนมากเป็นเด็กอเมริกันที่ crazy ในเรื่องแบบนี้มาก”
อีกวิชาที่ได้รับความนิยมคือ “สังคมและวัฒนธรรมไทย” พานักศึกษาไปวัดพระแก้ว ไปล่องเรืออยุธยา วิชาชาติพันธุ์กลุ่มน้อย และวิชา Art and Culture
“นักศึกษาทั่วโลกไม่ว่าเอกอะไรก็มาเรียน ผมเคยเจอเด็กเอกชีวะ มาเรียนเพราะอยากมาเมืองไทย กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา แล้วเมืองไทยเป็นฮับให้เขาไปประเทศข้างเคียงด้วย”
อย่างไรก็ตามแนวทางการศึกษาที่อัครพงษ์ว่ามา ไม่เหมือนภาพในโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป เพราะ PBIC มี Human Touch นักศึกษาไม่ได้รู้แค่ไทยหรือจีน แต่ได้รู้จักชุมชนนานาชาติจากตัวนักศึกษาเองที่มีทั้งเด็กญี่ปุ่น เกาหลี จีน อเมริกัน ยุโรป รัสเซีย เอสโตเนีย อาเซียน
"มาเรียนแล้วไม่ได้รู้แค่ความเป็นไทย แต่รู้ว่าจะอยู่ด้วยกันในโลกได้ยังไง เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เรียนทำอาหาร รำไทย นวดไทย เรียนเพื่อให้เห็นคน โยงความเป็นไทยเข้ากับความเป็นชาติของนักศึกษานั้นๆ เช่น เมื่อเรียนเรื่องความเป็นไทยก็ให้นักศึกษากลับไปคิดว่าแล้วความเป็นอเมริกัน จีน ญี่ปุ่น คืออะไร กลายเป็นว่าความเป็นทุกชาติล้วนมีอณูของความเป็นชาติอื่นผสมอยู่ การมาเรียนวิทยาลัยปรีดีไม่ใช่มาเรียนเพื่อหลงชาติ แต่มาเรียนเพื่อรักชาติอย่างถูกวิธี"
อัครพงษ์ย้ำว่า การเรียนที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์นั้น “ใกล้ทั้งวัด ใกล้ทั้งวัง ใกล้พิพิธภัณฑ์ และย่านคาวโลกีย์อย่างถนนข้าวสาร หอพักฝั่งธนฯ ที่นักศึกษาพักอยู่ก็เป็นชุมชนคนรากหญ้า ทั้งหมดนี้คือ real Thai life”
ในยุคโควิด-19 ระบาด PBIC ก็เหมือนกับทุกองค์กรที่ถูกโควิดเล่นงานอย่างหนัก นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้ามาไม่ได้หายไป 99% แต่เด็กจีนจำนวนมากต้องการออกไปเรียนต่างประเทศ ถ้าเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอันดับ 1-2 ในจีนไม่ได้ก็อยากมาเรียนที่เมืองไทย เพราะประเทศจีนให้ความสำคัญกับการจบการศึกษาในต่างประเทศ ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่
“ไม่ได้หมายความว่าเราจะพูดเรื่องเงินเป็นสำคัญ แต่การที่นักศึกษาจีนมาอยู่เมืองไทยเขาจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับเรา ส่วนมากเด็กจีนมาเรียนไทยศึกษา ทำให้เกิดการทูตประชาชนกับประชาชน”
แต่จะว่าไปแล้วหลักสูตรไทยศึกษาก็มีนักศึกษาไทยมาเรียนมากเหมือนกัน อัครพงษ์เล่าว่า เพราะเป็นการเรียนในภาษาอังกฤษ มีมุมมองบางมุมที่คนต่างชาติเขียนถึงคนไทยโดยที่คนไทยไม่เคยคิดถึงมาก่อน
“เช่น ทำไมคนไทยมาสาย คนไทยด้วยกันอาจอธิบายว่า ภูมิอากาศทำให้เราไม่แอคทีฟ แต่ในทางสังคมวิทยาอธิบายว่า เป็นเรื่อง Mode of production เราเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำงานในไร่นาไม่มีกำหนดเวลาเหมือนการทำงานในโรงงาน การที่คนยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ตรงเวลาเพราะประเทศเหล่านั้นผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาก่อน เงินหรือค่าตอบแทนมาจากเวลา ยุโรปก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เป็นแบบเรา การเรียนไทยศึกษาเป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นการเรียนคำอธิบายอีกมิติหนึ่งจากทั่วโลก เรียนแล้ว Enlighten" คณบดีสรุป
ส่วนผู้ปกครองอาจมีคำถามว่าในยุคของบิทคอยน์ คริปโตเคอเรนซี เทคโนโลยีบล็อกเชน ถ้าให้ลูกเรียนสังคมศาสตร์แล้วจะไปทำงานอะไร
"คำตอบง่ายๆ คือเทคโนโลยีเหล่านั้นมาตอบคำถามในชีวิตมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ถ้าเราไม่เข้าใจปรากฏการณ์ก็แห่ทำตามเขา การมาเรียนสังคมศาสตร์คือการสร้าง Intellectual immunity เกิดภูมิคุ้มกันทางปัญญา สร้างคนให้มีวิจารณญาณ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ"
อัครพงษ์ย้ำว่า ตอนนี้จีนเป็นมหาอำนาจ การเรียนจีนศึกษานักศึกษาจะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเปิดกว้างของจีน นอกจากนี้เด็กจีนศึกษาหลายคนยังเข้าไปทำงานในสภาความมั่นคง กองทัพเรือ กองทัพบก กระทรวงการต่างประเทศของไทย ฯลฯ เป็นกำลังสำคัญในการวิเคราะห์ท่าทีนโยบายต่างประเทศที่มีต่อจีน หรือนโยบายจีนต่อประเทศอื่นๆ เพื่อให้เราตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของจีนได้ ที่สำคัญคือนักศึกษาเหล่านี้รู้จักจีนผ่านภาษาจีน ตีความได้อย่างถูกต้อง โอกาสการทำงานจึงมีมากมาย
ได้ยินได้ฟังปากคำของคณบดี PBIC แล้วต้องยอมรับว่า แม้โลกหมุนเร็วแต่การเรียนสังคมศาสตร์แบบอาณาบริเวณศึกษาในยุคที่โลกเชื่อมกันเป็นหนึ่ง ไม่ได้ปิดกั้นหนทางการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าใจคนต่างชาติต่างประเทศอีกด้วย