'ไฟเซอร์' เผย! ประเทศ 'รายได้กลาง-ต่ำ' ไม่ยอมสั่งวัคซีน แม้ขายราคาทุน
ซีอีโอ "ไฟเซอร์" เผย ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ไม่ยอมสั่งวัคซีนจากบริษัท แม้บริษัทจะโทรฯหา-ส่งจดหมาย-ส่งข้อความและลดราคาลงจนเหลือราคาต้นทุน
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างคำพูดของนายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ไฟเซอร์ บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำ ที่กล่าวว่า ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ไม่ยอมสั่งวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการที่จะสนับสนุนให้มีการยกเว้นลิขสิทธิ์สำหรับการผลิตวัคซีน เพื่อให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้ได้
“เราได้ติดต่อไปยังทุก ๆ ประเทศ เพื่อสอบถามว่าต้องการวัคซีนจากเราหรือไม่ เพื่อที่เราจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่มีรายได้สูงจะจองวัคซีนเสียเป็นส่วนมาก ผมเองก็เริ่มกังวลถึงเรื่องนี้ และเริ่มติดต่อไปยังผู้นำของประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ โดยติดต่อผ่านทางจดหมาย โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งส่งข้อความไปหา เพื่อให้พวกเขาสั่งจองวัคซีนกับเรา เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด” นายเบอร์ลา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำที่นายเบอร์ลาติดต่อไป ส่วนมากจะตัดสินใจสั่งจองวัคซีนกับบริษัทอื่นแทน อาจเป็นเพราะว่า ขณะนั้น เทคโนโลยีในวัคซีนของไฟเซอร์ยังไม่ผ่านการทดสอบ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าประเทศนั้นผลิตวัคซีนได้เอง อีกทั้งบางประเทศยังไม่ยอมอนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์ แม้ว่าวัคซีนนี้จะพัฒนาร่วมกันระหว่างไฟเซอร์และบริษัทไบออนเทค ของเยอรมนี
ก่อนหน้านี้ นางแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) กล่าวว่า สหรัฐสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อตกลงที่จะยกเว้นค่าทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งการยกเว้นค่าลิขสิทธิ์นี้ จะช่วยให้ประเทศอื่น ๆ เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะมีบางคนออกมาวิจารณ์ว่า ในตอนนี้ยังไม่มีที่ไหนที่จะมีความสามารถในการผลิตวัคซีนของไฟเซอร์ที่ถูกและมีประสิทธิภาพได้อย่างที่ไฟเซอร์ทำ
นอกจากนี้ นายเบอร์ลา ยังกล่าวว่า ไฟเซอร์และไบออนเทค กำหนดราคาของวัคซีนโดยใช้ลำดับขั้นคือประเทศที่มีรายได้สูง จะจ่ายวัคซีนราคาเต็ม ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จะจ่ายราคาครึ่งเดียว ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำ จะจ่ายในราคาต้นทุน ซึ่งการกำหนดราคาวัคซีนแบบนี้ ริเริ่มโดยบริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายยาต้านเชื้อเอชไอวี
ทั้งไฟเซอร์และไบออนเทค มีกำหนดส่งวัคซีนกว่า 3,000 ล้านโดสไปในประเทศต่าง ๆ อีก 116 ประเทศ และขณะนี้ ไฟเซอร์ได้ผลิตวัคซีนไปแล้วกว่า 450 ล้านโดส ส่วนมากจะถูกส่งไปใช้ในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ในสหรัฐ จำหน่าย 2 โดสในราคา 39 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,210 บาท
นายเบอร์ลา คาดว่า ในปีนี้ วัคซีนที่ผลิตได้เกิน 40% หรือมากกว่า 1,000 ล้านโดส จะถูกส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
“เราคาดว่าจะจัดหาวัคซีนเพื่อส่งให้ประเทศเหล่านี้ได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 และจะมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับทุกประเทศในปี 2565” ซีอีโอไฟเซอร์ กล่าว