'ความยั่งยืนด้านอาหาร'ปัญหาที่'จี20'ต้องเร่งแก้ไข

'ความยั่งยืนด้านอาหาร'ปัญหาที่'จี20'ต้องเร่งแก้ไข

'ความยั่งยืนด้านอาหาร'ปัญหาที่'จี20'ต้องเร่งแก้ไข ขณะผลสำรวจบ่งชี้ สหรัฐทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดจากการบริโภคเนื้อเกินความจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งเปลี่ยนพื้นที่มากมายเพื่อเกษตรกรรม

แม้การประชุมจี0 ปิดฉากไปแล้วและตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องเกี่ยวกับแผนปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลทั่วโลก พร้อมผลักดันให้บรรดาผู้นำทั้ง20ประเทศลงนามรับรองในการประชุมซัมมิตจี20 เดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญสายที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจแบบยั่งยืนก็มีความเห็นว่าประเทศ จี20 ยังต้องปรับปรุงการทำงานด้านความยั่งยืนของอาหาร

ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกได้รับการประเมินด้านการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง เกษตรกรรมแบบยั่งยืน และปัญหาด้านโภชนาการในการจัดทำดัชนี Food Sustainability Index (เอฟเอสไอ)

คณะผู้จัดทำดัชนีเอฟเอสไอ หรือดัชนีความยั่งยืนทางอาหาร ระบุว่า ประเทศจี20 ต้องเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ด้วยการลดปริมาณการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพอาหารและเกษตรกรรม ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดระบบอาหารของสหประชาชาติ หรือ UN Food Systems Summit

รายงานดัชนีเอฟเอสไอ ที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit (อีไอยู) ร่วมกับ Barilla Center for Food and Nutrition (บีซีเอฟเอ็น) ระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ยังต้องปรับปรุงการทำงาน โดยมีเพียงแคนาดาและญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำผลงานได้ดีในระดับติดควอร์ไทล์บนในการประเมินทั้ง 3 ด้าน

ประเทศที่ทำผลงานได้ดีอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี และอังกฤษ ในขณะที่สหรัฐทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดจากการบริโภคเนื้อเกินความจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งเปลี่ยนพื้นที่มากมายเพื่อเกษตรกรรม

ส่วนอินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบียทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดเมื่อพิจารณารอบด้าน

“ประเทศจี20 เป็นเจ้าของผลผลิตทางเศรษฐกิจ 80% ของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75% ของโลก ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีทั้งโอกาสอันดีและภาระรับผิดชอบที่จะต้องบุกเบิกหนทางสู่ความยั่งยืนทางอาหาร” มาร์ติน โคห์ริง ผู้บริหารประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ฝ่ายความยั่งยืน ภาวะโลกร้อน และทรัพยากรธรรมชาติของอีไอยู กล่าว

รายงานดัชนีเอฟเอสไอ เผยให้เห็นถึงความคืบหน้าในการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งที่ระดับ 931 ล้านตันต่อปี แต่กลับไม่มีประเทศใดในกลุ่มจี20 ที่เผยแพร่แนวทางการแก้ปัญหาการสูญเสียอาหาร หรือติดตามกลยุทธ์การลดอาหารเหลือทิ้ง

นอกจากนี้ ผู้จัดทำดัชนียังนำเสนอประเด็นเรื่องโภชนาการในสหรัฐ ที่โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคจะรับประทานเนื้อมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันถึง 250 กรัม

รายงานกล่าวถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การปฏิบัติตามคำแนะนำด้านโภชนาการจากรัฐบาลนั้น ช่วยป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 15% รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 13% โดยหยิบยกตัวอย่างจากแคมเปญ “Five a Day” ของประเทศอังกฤษที่สามารถเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ได้ถึง 10%

รายงานดัชนีเอฟเอสไอ ระบุว่า ทุกประเทศในกลุ่ม จี20 มีคำแนะนำด้านการโภชนาการ แต่มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของโภชนาการที่ดี แม้ว่าจะมี 13 ประเทศที่ตั้งเป้าหมายดำเนินการไว้ชัดเจนในการรับมือกับภาวะโลกร้อน แต่มีเพียงอินโดนีเซียและแคนาดาที่คำนึงถึงภาคเกษตรกรรมในการพัฒนาแผนด้วย

“เรารู้ว่าระบบอาหารที่ยั่งยืนนั้นเป็นส่วนสำคัญของวิถีทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวาระการพัฒนาปี 2573 ของสหประชาชาติ ผู้นำประเทศ จี20 มีอำนาจในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อระบบอาหาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกของเราในการแก้ปัญหาความหิวโหยและความยากจน รวมถึงรับมือกับภาวะโลกร้อน” ดร. มาร์ตา แอนโธเนลลิ หัวหน้าทีมวิจัยบีซีเอฟเอ็น กล่าว

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่า ทั่วโลกมี‘ขยะอาหาร’(food waste) ถูกทิ้งประมาณ 1 ใน 3 หรือ กว่า 30% จากจำนวนทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นบริโภคในแต่ละวัน หรือรวมกันประมาณ 1,300 ล้านตันต่อปี จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งที่ว่านี้ถือเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับประชากรในทวีปแอฟริกาบริโภคได้ตลอดทั้งปี

ข้อเสนอแนะของคณะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนด้านอาหารมีขึ้นหลังจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เผยแพร่รายงาน“ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในโลกปี 2021”โดยเตือนว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกประมาณ10% ขาดแคลนอาหารในปี 2563 เทียบกับ 8.4%ในปี2562

รายงานฉบับนี้ของยูเอ็น ซึ่งหน่วยงานต่างๆของยูเอ็นทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกปี ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนอาหารเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆตั้งแต่ช่วงปี 2553-2558 แต่เมื่อปีที่แล้วจำนวนผู้ขาดแคลนอาหารกลับเพิ่มขึ้นแซงหน้าการเติบโตของประชากร

“แต่ภูมิภาคที่มีปัญหาการขาดแคลนอาหารรุนแรงที่สุดหรือมีจำนวนผู้หิวโหยเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือทวีปแอฟริกา มีสัดส่วนประมาณ 21% ของจำนวนประชากร สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆสองเท่า”รายงานของยูเอ็น ระบุ

ดร.ชาร์ลส โอวูบาห์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) Action Against Hunger องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีความเห็นว่า “60% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆที่ความอดอยากเป็นเหมือนอาวุธของสงคราม และส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ ล้วนมีกรณีพิพาทเรื่องอาหาร น้ำ หรือทรัพยากรที่จำเป็นในอุตสาหกรรมการผลิต”