โควิดหนุน 'อีคอมเมิร์ซ-ธุรกิจเกี่ยวข้อง' โตต่อเนื่อง
การที่อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปี 2563 เป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้ เนื่องจากผู้บริโภคจำเป็นต้องหันมาซื้อของออนไลน์ ส่งผลให้แบรนด์ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามไปด้วย
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภาคส่วนอีคอมเมิร์ซมียอดขายค้าปลีกทั้งหมดเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างน่าทึ่ง จาก 16% มาอยู่ที่ 19%ในปี 2563
เศรษฐกิจค้าปลีกดิจิทัลเติบโตที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ยอดขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากราว 1 ใน 5 ธุรกรรมในปี 2562 เป็นกว่า 1 ใน 4 เมื่อปี 2563
“สถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของกิจกรรมออนไลน์ ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในการมีข้อมูลแบบนี้ในช่วงที่กำลังสร้างเศรษฐกิจขึ้นใหม่หลังการระบาดของโควิด-19” สามิกา สิริมันเน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ของอังค์ถัดกล่าว
สหราชอาณาจักร (ยูเค) ก็มีธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นมากเช่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว จาก 15.8% เป็น 23.3% เช่นเดียวกับจีน (จาก 20.7% เป็น 24.9%) สหรัฐ (11% เพิ่มเป็น 14%) ออสเตรเลีย (6.3% เป็น 9.4%) สิงคโปร์ (5.9% เป็น 11.7%) และแคนาดา (3.6% เป็น 6.2%)
ยอดขาย B2C ออนไลน์ (Business to Customer คือรูปแบบทางธุรกิจที่มีการส่งมอบสินค้าจากผู้ประกอบการถึงมือผู้บริโภคโดยตรง) สำหรับ 13 บริษัทชั้นนำของโลกในปี 2563 อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์
อังก์ถัดกล่าวด้วยว่า ในบรรดาบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำ 13 แห่ง ส่วนใหญ่มาจากจีนและสหรัฐ รายที่ให้บริการเรียกรถและท่องเที่ยวประสบกับความเจ็บปวด เช่น เว็บไซต์จองการเดินทางท่องเที่ยว “Expedia” ร่วงลงจากอันดับ 5 ในปี 2562 มาอยู่อันดับที่ 11 ในปี 2563 เช่นเดียวกับ Booking Holdings และ Airbnb
เทียบกับบริษัทอีคอมเมิร์ซที่เสนอสินค้าและบริการอันหลากหลายสู่ผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ อยู่ในสถานะที่ดีกว่า 13 บริษัทชั้นนำมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20% จาก 17.9% ในปี 2562
ผู้ชนะเหล่านี้มี Shopify รวมอยู่ด้วย ยอดขายปีก่อนเพิ่มขึ้นกว่า 95% และวอลมาร์ท (เพิ่มขึ้น 72.4%)
ในภาพรวมยอดขายอีคอมเมิร์ซโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 26.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2561
นอกเหนือจากการซื้อออนไลน์ของผู้บริโภคแล้ว ตัวเลขนี้ยังรวมถึงการค้าแบบ B2B (ธุรกิจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง) ที่รวมกันมีมูลค่า 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกเมื่อสองปีที่แล้ว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ econsultancy.com อ้างถึงบทวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโกลบอลดาตา ระบุว่า 9 ใน 10 ของบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลกมีรายได้เติบโตขึ้นระดับเลขสองหลักในปี 2563 เนื่องจากลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม
พินตั่วตั่วรายได้โตเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 97.6% ขณะที่คูพัง (Coupang) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดของเกาหลีใต้โต 90.8% ครองอันดับ 7 ในปี 2563 ทำรายได้ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
อเมซอนครองอันดับ 1 อย่างไม่ต้องสงสัยรายงานรายได้ 3.86 แสนล้านดอลลาร์ แม้เติบโตลดลงที่ 37.6%
บริษัทที่ทำผลงานได้ดีรายอื่นๆ ยังรวมถึงเวย์แฟร์ เว็บไซต์ขายเฟอร์นิเจอร์ของสหรัฐ รายได้ปีต่อปีเพิ่มขึ้น 55% อานิสงส์ผู้บริโภคสนใจอยากปรับปรุงบ้าน ส่วนอาลีบาบารายได้เติบโต 40.9% ซาลันโด อีเบย์ และราคูเท็น รายได้เพิ่ม 25.4%, 18.9% และ 18.9% ตามลำดับ
วีไอพีช็อป โฮลดิง เจ้าของวีไอพีดอทคอมของจีน เป็นเพียงบริษัทเดียวในกลุ่มท็อปเท็นที่รายได้เพิ่มเป็นเลขหลักเดียวที่ 9.6% แต่ยังรักษาตำแหน่งที่ 4 ไว้ด้วยยอดขายรวมเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับปี 2564 เว็บไซต์ emarketer ประเมินว่า ยอดขายค้าปลีกอีคอมเมิร์ซจะโตต่อไป 16.8% ในปีนี้อยู่ที่ 4.921 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศที่การซื้อของออนไลน์จะขยายตัวต่อไปอย่างมากคือ อินเดีย บราซิล รัสเซีย และอาร์เจนตินา ที่คาดว่ายอดขายค้าปลีกประจำปี 2564 จะโตไม่ต่ำกว่า 26%
หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค นับถึงปี 2563 เอเชียแปซิฟิกและอเมริกาเหนือมียอดขายค้าปลีกอีคอมเมิร์ซนำภูมิภาคอื่น ขนาดที่ใหญ่มากของจีนทำให้ยอดขายค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของเอเชียแปซิฟิกมากถึง 60.8% ของทั้งโลกในปีนี้ อเมริกาเหนือครองสัดส่วน 20.3% ยุโรปตะวันตก 12.6%
อีเพย์เมนท์โตตามอีคอมเมิร์ซ
เว็บไซต์ businesswire รายงานว่า มูลค่าธุรกรรมตลาดการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 5.44 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะมีมูลค่า 11.29 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2569 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่าง 264-2569 ที่ 11.21%
การที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกและส่งผลหนุนนำอีคอมเมิร์ซจึงกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนานโยบายว่าด้วยการซื้อของออนไลน์และอุปทาน เพราะชัดเจนแล้วว่าอีคอมเมิร์ซคือทางออกสำคัญในยุคโควิดระบาด โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่ายอดขายอีคอมเมิร์ซช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ได้และกลายเป็นธุรกิจหลักของบางเขตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้วิธีการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในหลายๆ ประเทศเติบโตขึ้นมาก
จะว่าไปแล้วการชำระเงินแบบไม่ต้องใช้เงินสดได้รับความนิยมตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด เนื่องจาก 1) สะดวกกว่า 2) รัฐบาลออกนโยบายหนุนและพยายามลดต้นทุนในการพิมพ์เงิน และรับมือกับเงินเถื่อนที่ทะลักเข้าประเทศบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากทำให้เป็นระบบดิจิทัลได้ก็จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นสังคมไร้เงินสดและชำระเงินผ่านดิจิทัล
3) พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป 4) การใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 5) การใช้โมบายวอลเล็ตทั่วโลก ผู้บริโภคสามารถเติมเงินในแอพพลิเคชันได้ ส่งเสริมให้บริการชำระเงินผ่านดิจิทัลได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น จีนใช้จ่ายกับบริการนี้สูงมาก วีแชตเพย์เปิดช่องให้ลูกค้าจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็วผ่านแอพ เชื่อมต่อกับธนาคารต่างๆ ใช้จองโรงแรม เที่ยวบิน รถไฟ ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ง่ายดาย
ปี 2564 จีนจึงเป็นตลาดชำระเงินดิจิทัลใหญ่สุดของโลก ผลจากการชอปปิงออนไลน์ปริมาณมากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดในปีนี้ เนื่องจากการใช้อินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย
ยิ่งไปกว่านั้นการที่รัฐบาลอินเดียมียุทธศาสตร์ทำให้อินเดียเป็นเศรษฐกิจไร้เงินสด จึงเปิดโอกาสใหม่ให้ผู้เล่นรายเล็กเข้าไปเสนอบริการดิจิทัลเพย์เมนท์
ช้อปออนไลน์ขับเคลื่อนบริการส่งพัสดุ
เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ตลาดพัสดุใหญ่สุดวัดจากมูลค่า คิดเป็นราว 40% ของตลาดโลก ขณะที่อเมริกาเหนือและยุโรปรวมกันที่ 50% เศษ โดยการค้าปลีกออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดส่งพัสดุ
ตอนนี้ตลาดเติบโตแข็งแกร่งมากโดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมและยุโรปตะวันตก
การขนส่งที่สำคัญที่สุดคือขาสุดท้ายให้ถึงมือผู้บริโภค ขณะนี้เกิดการปรับโฉมอย่างมหาศาล บริษัททั้งหลายต่างพยายามมองหาทางเลือก เช่น ล็อกเกอร์ส่งสินค้า จุดรับสินค้าจัดส่งแบบเครือข่ายผู้ขับขี่สามารถเลือกให้บริการตามคำสั่งซื้อบางรายการได้ (crowdsourced delivery) โดรนส่งของ และยานยนต์ไร้คนขับ พัฒนาการของเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด และรังสรรค์อุตสาหกรรมส่งของในรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค
และเนื่องจากสตาร์ทอัพหลายรายกำลังเข้าสู่ตลาดนี้โดยอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จึงมีแนวโน้มว่าบริษัทใหญ่กำลังเข้าซื้อสตาร์ทอัพเหล่านี้เพื่อขยายกิจการในตลาดส่งพัสดุ ทั้งดีเอชแอล เฟดเอกซ์ และยูพีเอสต่างกำลังขยายธุรกิจไปทั่วโลกหวังเจาะตลาดที่ยังไม่มีใครเข้าไป
ฟู้ดเดลิเวอรีโตด้วย
ด้านบริการส่งอาหารออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี) เว็บไซต์ businesswire ระบุว่า ผู้เล่นสำคัญได้แก่ เทคอะเวย์ดอทคอม (takeaway.com) ดอร์แดช (Doordash) เดลิเวอรู (Deliveroo) อูเบอร์อีตส์ (Uber eats) โซมาโต (Zomato) สวิกกี (Swiggy) โดมิโนพิซซา กรับฮับ (Grubhub) ฟู้ดแพนด้า และจัสต์อีต (Just eat)
ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์โลกคาดว่าจะเติบโตจาก 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 มาอยู่ที่ 1.26 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ อัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยรวมกันที่ 10.3%
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบริษัทกลับมาปฏิบัติการแล้วและใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ขณะกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องใช้มาตรการสกัดโรคอย่างเข้มงวดก่อนหน้านี้รวมถึงการรักษาระยะห่าง ทำงานทางไกล งดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ คาดว่าภายในปี 2568 ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์จะโตถึง 1.92 แสนล้านดอลลาร์ อัตราการเติบโตต่อปีที่ 11%