'ตาลีบัน'ยึด'อัฟกานิสถาน'ปลุก'ก่อการร้าย'คืนชีพ
'ตาลีบัน'ยึด'อัฟกานิสถาน'ปลุก'ก่อการร้าย'คืนชีพ ขณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอังกฤษยอมรับกลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้แล้ว และอังกฤษจะไม่ส่งทหารกลับเข้าอัฟกานิสถานเพื่อไปสู้รบกับกลุ่มตาลีบันอีก
การประกาศชัยชนะของกลุ่มตาลีบัน หลังบุกเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้สำเร็จวานนี้ (16ส.ค.)สร้างความประหลาดใจแก่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าประมาณ 90 วันกรุงคาบูลจึงจะแตก ทำให้ต้องเร่งทำลายเอกสารทางการทูต อพยพผู้คนทั้งพลเมืองและเจ้าหน้าที่การทูตออกจากดินแดนแห่งนี้เร็วกว่าที่คิด
เว็บไซต์ข่าวอะซิออส(Axios) เผยแพร่คำเตือนของพล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐที่ว่า การหวนคืนสู่อำนาจของตาลีบันอาจจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ใช้ดินแดนในอัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และฟื้นตัวกลับมาเป็นภัยคุกคามเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้
คำเตือนนี้มีขึ้นระหว่างที่ มิลลีย์ เสนอรายงานเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถานต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน และสมาชิกสภาคองเกรสจากทั้ง 2 พรรคการเมือง ซึ่งนายพลอาวุโสผู้นี้อ้างถึงการประเมินความเสี่ยงครั้งก่อนที่คาดว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจฟื้นตัวในอัฟกานิสถานภายใน 2 ปีหลังจากที่สหรัฐถอนทหารออกมา พร้อมทั้งบอกว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนกรอบเวลาดังกล่าวใหม่
คำเตือนของมิลลีย์ สอดคล้องกับถ้อยคำของ"ลอยด์ ออสติน"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่กล่าวไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อการร้ายจะกลับมาใช้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีกว่าที่สถานการณ์จะดำเนินไปถึงจุดนั้น
เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด เพราะหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อัฟกานิสถานก็เคยเป็นแหล่งกบดานของพวกนักรบอัลกออิดะห์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 จนเป็นชนวนนำมาสู่สงครามอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 20 ปี
รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามยกข้ออ้างต่างเพื่อนำสหรัฐถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้ เช่นปฏิบัติการขับไล่อัลกออิดะห์ออกจากอัฟกานิสถานเสร็จสิ้นไปนานหลายปีแล้ว ประกอบกับ“ออสมา บินลาเดน” อดีตผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ ถูกหน่วยรบพิเศษสหรัฐปลิดชีพในปากีสถานไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
แต่หากหลังจากนี้ไปมีข้อมูลยืนยันว่ากลุ่มก่อการร้ายฟื้นคืนชีพภายใต้การปกครองของตาลีบันก็จะกลายเป็นสัญญาณร้ายทางการเมืองสำหรับไบเดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“แอนโธนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐให้สัมภาษณ์ในรายการ“สเตท ออฟ ยูเนียน”ทางช่องซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ (15ส.ค.) ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสหรัฐพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยป้องปรามและจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งทหารซึ่งประจำการในอัฟกานิสถานเพียงอย่างเดียว
“เรามีศักยภาพมากกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 หลายเท่า และเราจะใช้ศักยภาพด้านการป้องกันแบบ over-the-horizon ควบคุมสถานการณ์ในภูมิภาคดังกล่าว และจัดการกับภัยคุกคามก่อการร้ายที่อาจปรากฏขึ้นใหม่” บลิงเคน กล่าว
กระทรวงกลาโหมสหรัฐก็ยืนยันว่า กระทรวงฯได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าระบบโลจิสติกส์แบบ over-the-horizon หมายความว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐสามารถเฝ้าสังเกตการณ์และโจมตีสถานที่ต่างๆ ในอัฟกานิสถานด้วยเครื่องบินขับไล่หรือโดรนที่ประจำการอยู่ในประเทศอื่น และกระทรวงฯ ปฏิบัติภารกิจนี้มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แต่การตรวจสอบจากระยะไกลและยับยั้งไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายกลับมารวมตัวกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งนี้ สหรัฐไม่มีฐานทัพตั้งอยู่ใน 6 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน โดยฐานทัพอเมริกันที่ใกล้ที่สุดอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องใช้เวลาในการบินหลายชั่วโมง และทำให้ศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจด้านอากาศยานลดลงตามไปด้วย
สถานการณ์ในอัฟกานิสถานทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่กลุ่มนักรบตาลีบันเข้ายึดครองเมืองกันดาฮาร์และเฮรัต ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของประเทศ และจากนั้นก็สามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศในเวลาเพียงไม่กี่วัน
การล่มสลายอย่างรวดเร็วของรัฐบาลอัฟกานิสถานสร้างความประหลาดใจแก่บรรดาชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)
หลังตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้ไม่นาน “เบน วอลเลซ” รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษก็ยอมรับว่า ขณะนี้กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้แล้ว และอังกฤษจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ทหารกลับเข้าอัฟกานิสถานเพื่อไปสู้รบกับกลุ่มตาลีบันอีก
“ผมยอมรับว่าขณะนี้กลุ่มตาลีบันควบคุมอัฟกานิสถานได้แล้ว ผมคิดว่าต่อให้เป็นผู้ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ก็สามารถเห็นได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเช่นไร” นายวอลเลซ กล่าว