คลังลั่นพร้อมออกมาตรการกระตุ้นศก.โต 4-5% ปี 2565
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ปาฐกถาพิเศษ พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว 4-5% ในปี 2565 ยอมรับปีนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19หนัก ต้องปรับเป้าจีดีพีเหลือขยายตัว 1.3% ทั้งปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Shaping Thailand’s Readiness for Post COVID-19 Economic Opportunities” ในงาน Thailand Focus 2021 ภายใต้แนวคิด “Thriving in the Next Normal” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค.นี้ว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 7.5% ในไตรมาส 2/64 แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนักจกาสถานการณ์โควิด-19 โดยที่อัตราการเติบโตเทียบระหว่างสองไตรมาสนับตั้งแต่ต้นปีนี้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% การระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้
ที่ผ่านมาหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ในประเทศปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 0.7% สำหรับปีนี้ และ 3.7% สำหรับการฟื้นตัวในปี 65 ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5%
สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัสที่ตอนนี้ขยายไปครอบคลุมนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย การระบาดที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4-5% ในปี 65
สำหรับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้เพื่อเป็นรากฐานแห่งการเติบโตในระยะยาวของประเทศ ได้แก่
ประการแรก แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมโดยการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสโดยถ้วนหน้า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้นอาจจะไม่เท่ากันในทุกภาค และยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน ในขณะเดียวกันก็สร้างการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันโดยผ่านมาตรการรองรับทางสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น บัตรสวัสดิการสังคม ที่สามารถช่วยลดภาระการเงินของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ
ประการที่สอง ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ทางรถไฟ, การบิน และพลังงาน โครงการเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยมาก และจะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเข้มแข็งมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เราได้ลงทรัพยากรหลากหลายไปยังเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้นนวัตกรรมและอุตสาหกรรมในอนาคต การเพิ่มแหล่งระดมทุนจากเดิมที่มีการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน มาสู่การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ PPP ก็สนับสนุนโครงการเหล่านี้ได้ดีมากขึ้น
ประการที่สาม ลดภาวะเรือนกระจกและหาวิธีแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศแปรปรวน รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจนให้อาจถึงระดับเป็น 0 ภายในปี 2065 ซึ่งประเทศไทยก็ได้กำหนดแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย อย่างเช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานทางเลือก, เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy), ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรม รวมทั้งการปลูกป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมสีเขียวในรูปแบบของพันธบัตรเพื่อการพัฒนายั่งยืน เพื่อให้สามารถสนับสนุนการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในระดับโลกได้
ประการที่สี่ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เราจำเป็นจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่การพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการการผลิต, การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์, การเป็นศูนย์กลางโลจิสติก และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ประการที่ห้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเทศไทยควรจะปรับโครงสร้างและสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองกับความต้องการของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 ชนิดจะทำให้ผลผลิตแห่งชาติและรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะศูนย์กลางข้อมูลและดิจิทัล, อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความฉลาด, และเทคโนโลยีชีวภาพ
ประการที่หก สร้างความเข้มแข็งและความสามารถการแข็งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย (MSMEs) ภาคธุรกิจรายย่อยนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเรา เพราะคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด รัฐบาลกำลังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้เข้าถึงเม็ดเงินลงทุนได้ และสร้างโอกาสที่เข้าร่วมในการจัดซื้อของภาครัฐ
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดทุนของไทยนั้นมีความสมดุลอย่างยิ่ง ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถใจการแข่งขันของประเทศ ยังทำให้เราสามารถที่จะจัดการกับสภาพเศรษฐกิจได้ดีขึ้น รวมไปถึงการดูดซับแรงกระแทกต่าง ๆ เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพของตลาดทุนหลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำให้เศรษฐกิจในห้วงเวลาหลังโควิด-19 กลับมาแข็งแกร่ง
เหนือสิ่งอื่นใด ในโลกหลังโควิด-19 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ อย่างเช่น รถไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล ตลาดทุนจะมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่กลุ่มสตาร์ทอัพด้วย โดย ตลท.ได้นำเสนอ LIVE อันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุนของ SMEs และสตาร์ทอัพ และหวังว่าในอนาคตจะเห็นนวัตกรรมด้านการเงินมากขึ้น
"เส้นทางข้างหน้ามิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเต็มไปด้วยความท้าทายและความไม่แน่นอนนานัปการ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดคือพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะทำอย่างสุดกำลังเพื่อเอาชนะโรคระบาด ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถมองไปในอนาคตแล้วเห็นโอกาสหลากหลายในทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน"นายอาคม กล่าว