มาเลเซีย เรียนรู้โมเดล ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดเกาะ ลังกาวี
“มาเลเซีย” มีแผนเปิดเกาะ “ลังกาวี” ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยเรียนรู้จากโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ของไทย หวังกู้เศรษฐกิจท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบหนักจากพิษโควิด-19
สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีอิสมาลี ซาบรี ยาโคบ ของมาเลเซีย ประกาศว่า เกาะลังกาวีในรัฐเกดะห์ จะเปิดรับคนท้องถิ่นภายใต้แผน “ทราเวลบับเบิล” ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป
ส่วนจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ในประเทศ รัฐบาลจะอนุญาตให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนในท้องถิ่นแตะ 80% แล้วเท่านั้น
ขณะนี้ มาเลเซียอยู่ในช่วงเตรียมตัวอยู่ร่วมกับโควิด-19 แม้ว่ายอดติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกรณีไม่ต่างกับแผนเปิดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย จากโครงการนำร่อง "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ในจ.ภูเก็ต เกาะตากอากาศยอดนิยม
ไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย กล่าวว่า นับตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค. เป็นต้นไป รัฐบาลจะจัดการกับโควิด-19 เหมือนโรคระบาดประจำถิ่น และถึงเวลาแล้วที่ชาวมาเลเซียจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสนี้
หลังจากนายกฯมาเลเซียประกาศแผนเปิดเกาะลังกาวี บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่นต่างหวังว่า โครงการนี้จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ และไม่สามารถประคองกิจการตัวเองได้ตลอดด้วยเงินเยียวยาจากรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต่างหวังว่า โครงการเปิดการท่องเที่ยวในเกาะลังกาวีจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความยั่งยืน
จุดเริ่มต้นที่ดี
ยับ ลิบ เส็ง ซีอีโอสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมมาเลเซีย (MAH) กล่าวว่า เกาะลังกาวีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขณะที่การท่องเที่ยวจำเป็นต้องกลับมาลุกขึ้นยืนอีกครั้ง
ซีอีโอ MAH ระบุว่า ลังกาวีถูกวางไว้ให้เป็นโปรเจคฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเลเซีย และสามารถเป็นตัวอย่างสำหรับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในประเทศได้
“อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) และกลไกต่าง ๆ จะต้องชัดเจน เราไม่อาจถอยหลังกลับได้ แต่โปรเจคนี้ก็สามารถถูกปรับปรุงและพัฒนาให้คืบหน้าขึ้นควบคู่กันไป”
นอกจากนี้ ยับเผยว่า มาเลเซียได้เรียนรู้จากโครงการนำร่องที่คล้ายกันในประเทศอื่น ๆ รวมถึง ภูเก็ต ด้วย
“เราได้เรียนรู้โครงการที่คล้ายกันจากที่อื่น ๆ เช่น ภูเก็ตของไทย มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจว่าโครงการนำร่องนี้ต้องไม่ส่งผลอันตราย ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม”
ซีอีโอ MAH เสริมว่า แม้โครงการลังกาวีจะไม่รับประกันยอดผู้ป่วยเป็นศูนย์ ไม่ว่าการระบาดในท้องถิ่นหรือจากต่างประเทศ แต่ก็ถือเป็นแผนทางออกในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าเชื้อไวรัสนี้จะไม่หายไป
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มาเลเซียผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสำหรับพลเมืองที่ฉีดวัคซีนครบโดส โดยอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมบางกิจกรรมได้อย่างอิสระ เช่น นั่งรับประทานอาหารในร้าน
การระดมฉีดวัคซีนของมาเลเซียรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้ประชากรผู้ใหญ่เกือบ 66% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อรายวันยังสูงอยู่ โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทางการรายงานพบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 17,352 ราย และผู้เสียชีวิต 272 ราย
“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” สร้างรายได้กว่า 1.6 พันล้านใน 2 เดือน
ข้อมูลทางการของจ.ภูเก็ต ระบุว่า ความคืบหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นต้นมา ล่าสุด ณ วันที่ 5 ก.ย. มีนักท่องเที่ยวร่วมโครงการแล้วกว่า 28,197 คน จาก 346 เที่ยวบิน โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนภูเก็ตมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส และเยอรมนี
นักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวภูเก็ตและผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 1,634 ล้านบาท ทั้งจากการใช้จ่ายด้านที่พัก การซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว อาหาร/เครื่องดื่ม ค่าบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ฯลฯ
รัฐบาลเผยว่า หลังจากนี้ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะยังคงเดินหน้าต่อเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับ “สมุยพลัสโมเดล” และอีกหลายพื้นที่ที่จะทยอยเปิดในอนาคต ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังน่ากังวลคือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่ยังอยู่หลักร้อย โดย ณ วันที่ 6 ก.ย. สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 232 ราย ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อภายในจังหวัด
---------