บ.ข้ามชาติจับตาจีน-ขานรับแผนหนุนลงทุน

บ.ข้ามชาติจับตาจีน-ขานรับแผนหนุนลงทุน

บ.ข้ามชาติจับตาจีน-ขานรับแผนหนุนลงทุน ด้านหอการค้าอียูระบุว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลจีนยังคงลำเอียงโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของชาวจีนมากกว่าของชาวต่างชาติ

บรรดาบริษัทต่างชาติพยายามแสวงหาโอกาสสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจในจีนแม้ว่ากฏระเบียบใหม่ด้านการค้า การลงทุนของรัฐบาลปักกิ่ง รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศยากลำบากมากขึ้น   

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจของต่างชาติจะจับตามองการปราบปรามบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสัญชาติจีนของรัฐบาลปักกิ่งอย่างใกล้ชิด แต่รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของโลก 

ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนในกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่อย่างเสิ่นเจิ้น เดินตามรอยมณฑลไห่หนานที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นเขตการค้าเสรี ด้วยการประกาศมาตรการต่างๆที่เป็นแรงจูงใจเปิดรับเงินทุนจากต่างชาติในเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งในอดีตก็เคยมีการดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับภาคธุรกิจลักษณะคล้ายๆกันนี้และผลที่ได้ก็ค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ

“ความแตกต่างหลักๆคือตอนนี้เป็นการดำเนินนโยบายที่มีเป้าหมายมากขึ้น  คุณต้องแสดงให้รัฐบาลจีนเห็นว่าคุณมีบางอย่างที่รัฐบาลจีนต้องการหรือทำให้รัฐบาลจีนรู้สึกว่าคุณไม่ได้เป็นคู่แข่งกับผลประโยชน์ของรัฐบาล”อดัม ดันเนตต์ เลขาธิการหอการค้าสหภาพยุโรป(อียู)ในจีน กล่าว        

รัฐบาลจีนเริ่มดำเนินแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปีล่าสุดในปีนี้ โดยตั้งเป้าอันทะเยอทะยานหลายด้านโดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีท่ามกลางการกดดันจากสหรัฐ ทำให้รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เช่นพึ่งพาการบริโภคในประเทศแทนที่จะเป็นการส่งออกเหมือนที่ผ่านมา     

“สิ่งที่เราเห็นบรรยากาศทางธุรกิจในจีนตอนนี้คือ บริษัทบางแห่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน บางแห่งก็จะต่อสู้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่บริษัทบางแห่งยังคงมองว่าจีนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอนาคตแม้จีนจะปราบปรามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศของตัวเองเพื่อจัดระเบียบครั้งใหญ่”ดันเนตต์ กล่าว        
 

สำหรับประเด็นบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในจีนโดยรวม บรรดาผู้นำธุรกิจอเมริกันและยุโรปที่มีธุรกิจในจีน กล่าวว่า ยังไม่เป็นความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญตามที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยเรียกร้องให้จีนเปิดประเทศมากกว่านี้  โดยเอกสารของหอการค้าอียูระบุว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลจีนยังคงลำเอียงโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของชาวจีนมากกว่าของชาวต่างชาติ

ขณะที่การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของรัฐบาลปักกิ่งไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศทางธุรกิจในจีนดีขึ้น โดยในเดือนก.ค. ทางการปักกิ่ง สั่งให้ตีตี้ชูสิง  แอพฯ บริการเรียกรถแท๊กซี่ ออกจากแอปสโตร์ ในฐานะที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่นของปักกิ่ง โดยมุ่งเน้นที่พฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและความมั่นคงด้านข้อมูล

นอกจากนี้ ยังสั่งให้บรรดาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจติววิชาลดชั่วโมงการติววิชา ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ดิ่งหนัก รวมทั้งบริษัททาล เอดูเคชัน จนถึงเทนเซนต์ 

“ที่ผ่านมา เราเห็นการปราบปรามในอุตสาหรรมต่างๆและเป็นการปราบปรามในรูปแบบที่ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดหรือคาดการณ์ได้ แน่นอนว่าในการดำเนินธุรกิจเราต้องการเสถียรภาพและสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ ”เกร็ก กิลลิแกน ประธานหอการค้าอเมริกันในกรุงปักกิ่ง กล่าว

กิลลิแกน บอกด้วยว่า “ความท้าทายอื่นๆในการดำเนินธุรกิจในจีนคือการขอวีซ่าให้แก่บรรดาผู้บริหารธุรกิจระดับสูง สามีหรือภรรยาของพวกเขาและลูกๆ นโยบายด้านการเดินทางที่เข้มงวดส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติในจีนในเชิงลบ”

หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างชาติในจีนไม่พอใจกรณีที่รัฐบาลจีนกำหนดให้บริษัทที่ต้องการเข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้รัฐบาล ทั้งยังห้ามบริษัทต่างชาติดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหว หรือไม่ก็บังคับให้บริษัทต่างชาติร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจีน 

แต่ในช่วงสองสามปีมานี้ รัฐบาลจีนได้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ออกไปโดยส่วนใหญ่เป็นข้อจำกัดในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมการเงิน          

“ยอร์ก วัตเก” ประธานหอการค้าอียูในจีน มีความเห็นว่า ในช่วงสองปีมานี้ รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายต้อนรับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมของยุโรปมากขึ้น ขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของจีนก็ผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น

ช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศตั้งเขตการค้าเสรีเฉียนไห่เชื่อมเสิ่นเจิ้นกับฮ่องกงครอบคลุมพื้นที่ 120.56 ตารางกิโลเมตร  ซึ่งการขยายศูนย์กลางทางการเงินนี้ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารชั้นนำอย่างยูบีเอสและเอชเอสบีซี เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลจีนเพิ่มการควบคุมฮ่องกง  ศูนย์กลางทางการเงินโลกมากขึ้น

“คลอส เซนเคล”ผู้จัดการทั่วไปจากบริษัทไอเมดโค เทคโนโลยี (เสิ่นเจิ้น)และรองประธานหอการค้าอียูในจีนใต้ มองแง่ดีเกี่ยวกับแผนตั้งเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ว่าจะช่วยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น

ขณะที่“เฉิน จี้” ผู้จัดการทั่วไปจากคีย์สโตน กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีฐานดำเนินงานอยู่ในฮ่องกง มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายของทางการจีนทั้งการยกเว้นภาษีและนโยบายต่างๆที่เป็นมิตรกับธุรกิจ ยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีนในทันทีได้