World Pulse: ดื่มด่ำวัฒนธรรมกาแฟออสเตรเลีย
เรื่องของกาแฟมีให้ดื่มด่ำได้ไม่รู้จบ แต่ละประเทศมีเรื่องราวของตนเองเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ พัฒนาเป็นวัฒนธรรมกาแฟของชาติ สำหรับคนที่ไม่ใช่คอกาแฟคุ้นชินแค่กาแฟโบราณใส่นมข้นหวานอย่างผู้เขียน ยิ่งเจอข้อมูลเรื่องกาแฟก็ยิ่งตื่นตาชวนให้ค้นหา
วันก่อนเจอโพสต์จากเพจสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย (Australian Embassy, Thailand) กล่าวถึงวิธีเรียกชื่อกาแฟในออสเตรเลียว่ากันตั้งแต่แฟลตไวท์, ลอง แบล็ก, ริสเทรตโต, พิกโกโล, ลาเต้, คาปูชิโน, ไอซ์คอฟฟี อ่านแล้วถึงกับตาโตเพราะไม่คิดว่าออสเตรเลียจะมีแบบนี้ด้วย (ก็บอกแล้วว่าชินกับกาแฟโบราณ) นึกว่าจะมีแค่กาแฟฝรั่งเศส กาแฟอิตาลี เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้วัยรุ่นใกล้ตัวฟัง ได้ความว่า ประเทศออสเตรเลียนี่ล่ะขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมกาแฟรวมถึงร้านกาแฟ ได้ยินอย่างนี้ก็ไม่ได้การแล้วเห็นที World Pulse ต้องตามไปค้นข้อมูลถึงต้นตอ แต่ในยามที่โควิด-19 ยังไม่ห่างหายการจะตามไปสืบถึงออสเตรเลียน่าจะยาก เลยต้องใช้วิธีค้นหากาแฟออสเตรเลียกลางกรุงเทพฯ โชคดีที่เจอกับคุณณัฐ "ณัฐวุฒิ เเสงมณี" ผู้ร่วมก่อตั้งและฝ่ายประชาสัมพันธ์-การตลาด ร้านกาแฟ Toby's
คุณณัฐเล่าว่า ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกาแฟดีที่สุดในโลก เมลเบิร์น เปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงของกาแฟ ก่อนลงลึกเรื่องกาแฟออสเตรเลีย คุณณัฐเริ่มต้นเล่าถึงกระแสความนิยมกาแฟในภาพรวมว่าแบ่งเป็น 3 ระลอก ระลอกแรกเป็นการดื่มกาแฟปกติทั่วไปที่เน้นให้ตื่น เป็นกาแฟขั้วเข้ม ไหม้ๆ แบบอิตาลี ระลอกที่ 2 เริ่มมีเชนร้านกาแฟเข้ามา มีระบบบริหารจัดการ กาแฟหลากหลายมากขึ้น เช่น ร้านสตาร์บัคส์ และระลอกที่ 3 ยุคปัจจุบัน คำนึงถึงรสชาติมากขึ้น ย้อนรอยไปดูว่ากาแฟที่ดื่มมาจากไหน เพราะแต่ละพื้นที่ปลูกจะให้กาแฟรสชาติต่างกัน เช่น บราซิล อเมริกาใต้ รสชาติกาแฟออกโทนถั่ว ช็อกโกแลต ถ้าเป็นกาแฟเอธิโอเปีย แอฟริกา จะมีความฟรุตตี้ ฉ่ำผลไม้
คุณณัฐผู้มีประสบการณ์กาแฟออสเตรเลียอย่างโชกโชนเล่าต่อว่า ร้านกาแฟที่นั่นหลากหลายมาก แต่ละร้านคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน เน้นความเฟรนด์ลีของบาริสต้า
"ในออสเตรเลีย วัฒนธรรมกาแฟมีมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่หลังๆ โดดเด่นมากขึ้น เพราะเป็นไลฟ์สไตล์ของเขา เดินไป 10 ก้าว 20 ก้าวก็เจอร้านกาแฟแล้ว เป็นวิถีชีวิต คนออสเตรเลียเออะอะไรก็ดื่มกาแฟกันก่อน ไปนั่งคุยกับบาริสต้า ดื่มวันนึง 2-3 แก้ว มีร้านนั่งประจำ เอนจอยไลฟ์" คุณณัฐเล่าพร้อมเสริมว่า วัฒนธรรมการรับประทาน Brunch (การรวมมื้อเช้าและเที่ยงเข้าไว้ด้วยกัน) มีส่วนทำให้วัฒนธรรมกาแฟของออสเตรเลียโดดเด่น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ Brunch ออสเตรเลียจึงผสมอาหารเอเชียกับอาหารฝรั่งเข้าด้วยกันจนก้าวหน้ามาก ส่วนผสมมีทั้งอะโวคาโด มะเขือเทศ เน้นคุณภาพวัตถุดิบและความสด ไม่ปรุงแต่งมาก หัวใจของ Brunch คือการผสมให้เข้ากัน เช่น ใส่เครื่องเทศตะวันออกกลาง กิมจิเกาหลี แต่ยังคงความเป็นตะวันตกอยู่ 70% เน้นการบริการ ฟูลลี่เซอร์วิส มีตัวเลือกส่วนผสมเบลนด์กันอย่างหลากหลาย การนั่งรับประทาน Brunch ในร้านกาแฟของชาวออสเตรเลียก็คือการขายประสบการณ์ ผู้คนไปนั่งคุยกันกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ได้รับประทานอาหารในสไตล์ออสเตรเลียที่ลงตัวทั้งขนมปังและผักสด เรียกว่าได้ทั้งความอร่อยและสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
ฟังปากคำของคนทำร้านกาแฟออสเตรเลียในไทยแล้วลองไปดูข้อมูลสถิติกันหน่อย เว็บไซต์ internships.com.au ให้ข้อมูลตรงกันกับคุณณัฐว่า การดื่มด่ำกับกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมออสเตรเลียไปแล้ว ชาวออสเตรเลียนั้นให้ความสำคัญมากกับคุณภาพและรสชาติกาแฟ ยินดีจ่ายเพื่อสิ่งนี้
ประวัติศาสตร์กาแฟออสเตรเลียเริ่มต้นขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้อพยพชาวอิตาเลียนและกรีกเริ่มนำเครื่องชงกาแฟเข้ามาออสเตรเลีย โดยเฉพาะที่เมลเบิร์น ผู้คนจึงรู้จักกาแฟเอสเพรสโซ จากนั้นขยายวงไปยังพื้นที่อื่น แล้ววิถีกาแฟก็เปลี่ยนไป ปัจจุบันออสเตรเลียมีคาเฟ่มากกว่า 20,000 แห่ง จ้างงานประชาชน 140,000 คน แต่ละวันกาแฟในออสเตรเลียขายได้ 1.3 ล้านแก้ว ชาวออสเตรเลียบริโภคกาแฟกันราว 2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ร้านกาแฟทั่วออสเตรเลีย 95% เป็นร้านอิสระ ตลาดกาแฟที่นี่แยกย่อยมากและแข่งขันกันสูงโดยไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด คนออสเตรเลียเองก็ชอบคาเฟ่อิสระไม่เหมือนใครมากกว่าร้านเชนอย่างสตาร์บัคส์ และนอกจากคาเฟ่แล้วตามย่านชานเมืองกาแฟรถเข็นก็คุณภาพดีไม่แพ้กัน ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสรักษ์โลกนำแก้วกาแฟมาเองแล้วได้ส่วนลดกำลังได้รับความนิยม
ส่วนพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนกรุงเทพฯ คุณณัฐแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือลูกค้าประจำ เป็นร้านใกล้บ้านก็นิยมมานั่งดื่ม ทุกร้านถ้าจะไปได้สวยต้องมีลูกค้ากลุ่มนี้อย่างน้อย 60% อีกกลุ่มคือ cafe hopper ชอบหาร้านใหม่ๆ ชอบลอง อาจไม่ชอบดื่มกาแฟแต่ชอบสถานที่ ร้านสวย ทำให้ร้านกาแฟฮอตฮิตในโซเชียลมีเดีย เป็น word of mouth ที่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าโปรดัคท์ดี ลูกค้าก็จะมาซ้ำอีก ซึ่งพฤติกรรมซื้อซ้ำทำให้ร้านอยู่ได้
นั่นคือข้อมูลจากปากคำคนในวงการและจากการค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ตที่นำมาฝากคุณผู้อ่านแบบพอหอมปากหอมคอ เพราะเรื่องกาแฟถ้าคุยกับคอกาแฟมีให้คุยได้ไม่รู้เบื่อ แต่อะไรก็ไม่เท่าการได้ดื่มกาแฟดีๆ สักถ้วย ซึ่งอีกไม่นานนานาประเทศจะเริ่มเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งแล้ว การไปเยือนคาเฟ่ออสเตรเลียถึงถิ่นคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่ระหว่างนี้ที่กำลังรอความชัดเจนจากทุกฝ่ายก็หากาแฟออสเตรเลียกลางกรุงเทพฯ ดื่มไปพลางๆ ก่อนพอให้หายคิดถึง