อังค์ถัดชี้ศก.ทางทะเลเพิ่มโอกาสส่งออก2.5ล้านล้านดอลล์
รายงานล่าสุด จัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด)ระบุว่า เศรษฐกิจที่ได้จากทะเล หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สร้างโอกาสด้านการส่งออกแก่ประเทศต่างๆที่มีทรัพยากรทางทะเลคิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยกัน
รายงานล่าสุด จัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด)ระบุว่า เศรษฐกิจที่ได้จากทะเล หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สร้างโอกาสด้านการส่งออกแก่ประเทศต่างๆที่มีทรัพยากรทางทะเลคิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยกัน
ทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เข้าถึงตลาด การให้สินเชื่อและการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับทะเลจะช่วยให้ประเทศต่างๆพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19ได้เร็วขึ้น
รายงานของอังค์ถัดที่มีชื่อว่า “Advancing the Potential of Sustainable Ocean-Based Economies: Trade Trends, Market Drivers And Market Access”ใช้วิธีใหม่ในการจัดทำและเป็นครั้งแรกที่แยกกิจกรรมทางการค้าบนบกและทะเลออกจากกันโดยใช้ข้อมูลคอมเทรดของยูเอ็นภายใต้ระบบ Harmonized System (HS CODE)
หรือ พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ เป็นระบบการจำแนกประเภทสินค้า เพื่อใช้แทนความหมายของสินค้าในแต่ละประเภท และใช้ในการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ
เนื่องจากแต่ละประเทศมีสินค้าที่หลากหลาย และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เพื่อกำหนดให้เข้าใจตรงกันเป็นระดับสากลที่เกี่ยวกับประเภทและชนิดสินค้านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้การระบุสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ที่สากลยอมรับ ซึ่งสามารถจำแนกประเภทสิ่งของต่างๆ ได้ออกเป็น 21 หมวด 97 ตอน และกว่า 5,000 ประเภทพิกัด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ กรมศุลกากร
“รายงานฉบับนี้จะช่วยทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น กำกับด้านกฏระเบียบและบริหารจัดการการค้าสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับทะเลได้ดีขึ้น และนี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการทำการค้าทรัพยากรทางทะเล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน(เอสดีจี)”เดวิด วิวาส เจ้าหน้าที่่ฝ่ายกฏหมายของอังค์ถัดซึ่งทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเลโดยตรง กล่าว
รายงานฉบับนี้ ระบุว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเลและมีมูลค่ามากที่สุดในปี 2561 คือการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเทคโนโลยีระดับสูงทางทะเลและการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ระบุว่าเป็นที่ใด มีมูลค่า 595,000 ล้านดอลลาร์ และการบริการขนส่งทางทะเล ที่มีมูลค่า 399,000 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด
“รีเบคกา กรีนสแปน” เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวในการประชุม “Future of Tourism World Summit” ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนาระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.ว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ จนกว่าเราจะฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาครบทุกประเทศ แต่นับจนถึงขณะนี้ มีประชาชนเพียง 3% ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับวัคซีนครบโดส เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งได้รับวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 70%”
“การขาดแคลนวัคซีน และการได้รับวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้น เราจำเป็นต้องสนับสนุนการเข้าถึงว้คซีน” กรีนสแปนกล่าว
ตัวแทนจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของระเบียบการด้านสาธารณสุข เพื่อกำหนดมาตรฐานในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังต่างประเทศ
“ซูรับ โปโลลิคาช์วิลี” เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) กล่าวว่า “ประชาชนไม่รู้ว่าจะเดินทางออกจากเมืองเจนีวาไปที่เมืองบาร์เซโลนาหรือไปที่อื่น ๆ ในยุโรปได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องน่าปวดหัว เพราะเราไม่รู้ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร”
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้ที่เดินทางทั่วโลกลดลงราว 900 ล้านคน หรือมากกว่า 70% จากระดับของปีที่แล้ว แต่เลขาธิการยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ คาดว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจจะฟื้นตัวในปีหน้า
นอกจากนี้ เลขาธิการอังค์ถัดและยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกรีนสแปนกล่าวว่า “เม็ดเงินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การลงทุนของภาคเอกชนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล”
การประชุม “Future of Tourism World Summit” ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวจากกว่า 10 ประเทศ รวมทั้งผู้นำจากองค์กรและตัวแทนจากทั่วโลกกว่า 130 คนเข้าร่วมประชุม