‘อัลกอริธึม’ ผู้กำหนดชะตาไรเดอร์จีน
หน้าที่ไรเดอร์ส่งอาหารคือต้องส่งอาหารจานร้อนถึงมือลูกค้าทันเวลาที่กำหนดไว้ จ้วง เจิ้นหัว ไรเดอร์ชาวจีนทำภารกิจได้สำเร็จผ่านแอพพลิเคชัน “เหม่ยถ้วน” แต่กลายเป็นว่าเขาถูกปรับ รายได้หดหายไปครึ่งหนึ่ง
ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะระบบลงทะเบียนไม่ถูกต้องว่าจ้วงมาสายและถูกทำโทษโดยอัตโนมัติ ซึ่งเขามองว่านี่คือหนึ่งในหลายๆ วิธีที่บริษัทส่งอาหารกำลังเอาเปรียบคนงานหลายล้านคนในช่วงที่ธุรกิจส่งอาหารกำลังบูม
ทางการจีนเริ่มเล่นงานบริษัทส่งอาหารอย่างเหม่ยถ้วน และเอ้อเลอมาของอาลีบาบา ให้สร้างหลักประกันว่าบริษัทคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน เช่น จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม ทำประกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาอัลกอริธึมที่เร่งการขับขี่อันตรายให้มีประสิทธิภาพ
แต่ไรเดอร์สิบกว่าคนเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า จริงๆ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จ้วงเล่าว่า การจะส่งอาหารตามออเดอร์ได้แล้วเสร็จตรงเวลาบ่อยครั้งต้องใช้วิธี “ซิ่งสุดๆ ฝ่าไฟแดง ขี่รถย้อนศร”
“ตอนแรกแอพให้เวลา 40-50 นาทีส่งอาหารให้เสร็จสำหรับออเดอร์ในระยะทาง 2 กิโลเมตร ตอนนี้ในระยะทางเท่ากันให้เวลา 30 นาที”
ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 และผลจากการล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการบริการส่งอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก มูลค่าปัจจุบันตามรายงานของสมาคมธุรกิจบริการจีนอยู่ที่ 6.64 แสนล้านหยวน (1 แสนล้านดอลลาร์)
บริการผ่านแอพที่แข่งขันกันสูงมากในจีนได้ขยายตัวไปสู่แทบทุกมิติในชีวิตสมัยใหม่ เมื่อผู้บริโภคที่เชี่ยวชาญดิจิทัลสามารถเรียกใช้บริการได้ทันที และการส่งอาหารก็ทำได้รวดเร็วเนื่องจากแรงงานราคาถูกจำนวนมาก แต่หลังจากเติบโตแบบฉุดไม่อยู่มาหลายปี บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนกำลังถูกรัฐบาลปักกิ่งเล่นงาน ทั้งเท็นเซนต์ ตี้ตี่ และเหม่ยถ้วนต่างถูกตรวจสอบตามกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
หลายเดือนก่อนอาลีบาบาถูกปรับสูงที่สุดในโลก 2.8 พันล้านดอลลาร์ หลังผลสอบสวนพบว่า อาลีบาบาผูกขาดตลาด
ชีวิตบนความเสี่ยง
สาธารณชนกำลังกังวลกันมากเรื่องปริมาณข้อมูลในมือแอพพลิเคชันยอดนิยม รวมถึงแพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร ทางการจีนสั่งการให้หน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์ตรวจสอบวิธีการใช้อัลกอริธึมของเหล่าบิ๊กเทค ท่ามกลางคำรับรองส่งอาหารถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว การลดเวลาส่งอาหารลงยังเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้นด้วยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในภาพรวมทั่วโลก ธุรกิจบริการส่งอาหารกำลังถูกตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานฟรีแลนซ์ ผู้ยอมรับค่าจ้างต่ำ ได้สิทธิแรงงานเพียงไม่กี่อย่าง และมักว่าจ้างผ่านเอเยนซี่เพื่อบริษัทไม่ต้องจัดผลประโยชน์ให้ ตัวเลขจากรัฐบาลระบุว่า ปัจจุบันแรงงานจีนเกือบ 1 ใน 4 อยู่ในกิ๊กอีโคโนมี (การทำงานอิสระ/การทำงานแบบครั้งคราว) หรือแรงงาน 200 คนได้รับการว่าจ้างอย่างยืดหยุ่น
ครั้นเกิดเหตุคนขับรถคนหนึ่งของเอ้อเลอมาในกรุงปักกิ่งเสียชีวิตขณะส่งอาหาร ครอบครัวของเขาได้รับเงินชดเชยเพียงน้อยนิด คนขับอีกรายเผาตัวเองเพราะขัดแย้งเรื่องค่าจ้างกับบริษัทส่งผลให้สาธารณชนหันมาสนใจชะตากรรมของคนขับรถส่งอาหารและขับรถบรรทุก
บริการส่งอาหารแม้ได้รับเสียงชมเชยว่าเป็นบริการที่จำเป็นโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักสุด แต่คนขับรถทำรายได้เฉลี่ยแค่เดือนละ 7,700 หยวนเท่านั้น
จ้วงเล่าว่า หลายคนรู้สึกว่าเอาชีวิตตนเองไปอยู่ในความเสี่่ยง เนื่องจากอัลกอริธึมที่แอพใช้เป็นตัวตัดสินเส้นทางและระยะเวลาขับขี่ เกินจากนั้นถือว่าสายต้องโดนทำโทษ
ไรเดอร์อีกคน ผู้เผยตนเองแค่ว่า “แซ่หลิว” เล่าว่า เวลาส่งอาหารที่กำหนดมาให้นั้นรวมเวลาร้านค้าปรุงอาหารด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขาแต่อาจส่งกระทบกับรายได้
“ถ้าอาหารทำช้า คนโดนด่าคือไรเดอร์” ไรเดอร์หลิว วัย 40 ปีกล่าวและว่า ระบบทำให้ไรเดอร์ปฏิเสธไม่รับออเดอร์จากร้านที่ทำอาหารช้าแทบไม่ได้เลย
“บ่นไปก็ไม่มีประโยชน์” เจิ้น มิงเฉียง ไรเดอร์ วัย 50 ปี รำพึง
ไม่มีใครอยากจ่าย
เหม่ยถ้วน ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 628 ล้านคน กล่าวว่า บริษัทคำนวณเวลาที่ต้องใช้ใน 4 เส้นทาง แล้วจัดสรรเวลานานที่สุดจากตัวเลือกเหล่านั้น พร้อมเพิ่มความยืดหยุ่นประเมินเป็นช่วงเวลาแทนกำหนดเวลาชัดเจน
ในแถลงการณ์ลายลักษณ์อักษร เหม่ยถ้วนยืนยันว่าการตัดสินใจเช่นนั้นกระทำโดยพิจารณาความปลอดภัยของไรเดอร์เป็นประการแรก พร้อมๆ กับตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค และคนขับสามารถทักท้วงค่าปรับที่ไม่เป็นธรรมได้
เดือนที่แล้วคณะกรรมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตจีนร่างแผนควบคุมบริษัทเทคโนโลยีให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เหม่ยถ้วนกล่าวว่า บริษัทจะปรับ “กลยุทธ์อัลกอริธึม” และขยายเวลาเพื่อช่วยให้คนขับไม่ต้องเผชิญเงื่อนไขการทำงานเร่งรีบเป็นอันตราย
เคนดรา เชฟเฟอร์ จากบริษัทที่ปรึกษาทริเวียมในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ปัญหาร้ายแรงอยู่ที่วิธีการที่แพลตฟอร์มเข้ารหัสเพื่อระบุข้อกำหนดของคนขับและค่าตอบแทนขาดความโปร่งใส
“อัลกอริธึมถูกออกแบบมาเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด น่าเสียดายที่สังคมสมัยใหม่อัลกอริธึมเพิ่มประสิทธิภาพด้วยค่าใช้จ่ายของมนุษย์ ทุกคนต้องการให้คนขับได้รับการปฏิบัติดีขึ้น แต่ไม่มีใครอยากจ่ายเพื่อสิ่งนี้” เธอกล่าว
ต้องยอมรับว่าบริการส่งอาหารในจีนเป็นภาคส่วนที่ต้องพึี่งพาแรงงานย้ายถิ่นอย่างหนัก คนกลุ่มนี้มักเป็นแรงงานไร้ฝีมือและมาจากมณฑลห่างไกลด้วยความหวังมาหาเงิน หลายคนก็มีทางเลือกทำงานไม่มากนัก ซึ่งเรื่องนี้จ้วงเห็นด้วย
“ถ้าผมมีทางเลือก ผมไม่มีทางมาเป็นคนขับรถส่งอาหารเด็ดขาด อันตรายจะตายไป เสี่ยงก็เสี่ยง” จ้วงกล่าวทิ้งท้าย