ธุรกิจยาสมุนไพรจีนทำสัตว์ป่าแอฟริกาใกล้สูญพันธุ์

ธุรกิจยาสมุนไพรจีนทำสัตว์ป่าแอฟริกาใกล้สูญพันธุ์

ธุรกิจยาสมุนไพรจีนทำสัตว์ป่าแอฟริกาใกล้สูญพันธุ์ โดยธุรกิจนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาในนามของการทำกำไรระยะสั้น

 รายงานล่าสุด ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์อัลจาซีราห์ ระบุว่า ธุรกิจยาสมุนไพรจีน (ทีซีเอ็ม)ที่ขยายตัวและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในแอฟริกา กำลังคุกคามชีวิตสัตว์ป่าและจีนเป็นแชมป์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเส้นทางสายไหมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ทำให้ตัวนิ่มถูกล่าอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น จนล่าสุดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถป้องตัวเองได้แม้ตัวจะเต็มไปด้วยเกล็ดแต่เนื้อนิ่มและเกล็ดของมันเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดจีน ด้วยความเชื่อที่ว่าอาหารหรือยาที่ผลิตจากตัวนิ่มมีสรรพคุณที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยรักษาโรคกระเพาะ

เกล็ดตัวนิ่มมีเคราติน(Keratin) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของผิวหนัง เส้นผม เล็บและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เหมือนกับเล็บมือเล็บเท้าของมนุษย์เรา

รายงานฉบับใหม่เตือนว่า ความนิยมรับประทานยาสมุนไพรจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาคุกคามอนาคตของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดของโลก 

สำนักงานสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอนและมีหน้าที่สอบสวนคดีอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ระบุในรายงานที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันพุธ (10 พ.ย.)ว่า ขณะที่ตลาดทีซีเอ็มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความเข้าใจของผู้คนในทวีปแอฟริกาที่ว่าชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์ป่าที่นำไปทำทีซีเอ็มเป็นยาสรรพคุณสูง  รักษาโรคให้หายได้จึงเป็นเหมือนยาที่สร้างความหายนะแก่สัตว์บางสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นเสือดาว ตัวนิ่ม และแรด

ทางการจีนสนับสนุนให้มีการใช้ทีซีเอ็มตลอดเส้นทางการพัฒนาถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆทั่วทวีปแอฟริกาตามข้อริรเริ่มบีอาร์ไอ ทำให้ความต้องการยาสมุนไพรจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้จำนวนของสัตว์ป่าอย่างตัวนิ่มและแรดลดลงเรื่อยๆ

“ธุรกิจยาสมุนไพรจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาในนามของการทำกำไรระยะสั้น และธุรกิจยาสมุนไพรจีนอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสัตว์ป่าหรือชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์ป่ามากขึ้น เป็นแรงจูงใจทำให้เกิดคดีอาญาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่า และท้ายที่สุดนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ที่เกินตัว ”เซเรส แคม นักรณรงค์เพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่าของอีไอเอ กล่าว

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่าในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจีนและคลีนิกจีนที่ให้บริการยาสมุนไพรจีนจะตั้งอยู่ในประเทศต่างๆทั่วทวีปแอฟริกาและรัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมยอดขาย

โดยมีบริษัทค้าปลีกบางรายเรียกร้องให้ทางการออกข้อกำหนดให้เข้มงวดมากขึ้นในการกำกับดูแลทีซีเอ็ม พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันการใช้ชิ้นส่วนของสัตว์ป่าไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร

"เราเข้าใจว่ายาสมุนไพรมีความสำคัญในหลายๆวัฒนธรรมและมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพในแอฟริกาและนอกทวีปแอฟริกา สิ่งที่เรากังวลอย่างมากตอนนี้คือการขยายตัวของทีซีเอ็มในแอฟริกาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมาตามเส้นทางพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานบีอาร์ไอจะยิ่งทำให้ชีวิตสัตว์ป่าน้อยลง”แคม กล่าว 

ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและให้ความช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพแก่หลายประเทศในแอฟริกา รวมถึงส่งคณะแพทย์ไปยังแอฟริกานับตั้งแต่ปี 2506

ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อย่างน้อย 21,000 คนและเจ้าหน้าที่จากทีซีเอ็มจำนวนกว่า 2,000 คน ที่ให้บริการทางการแพทย์แผนโบราณใน 45 ประเทศ อาทิ ในไนจีเรีย แคเมอรูน มาลาวี แทนซาเนีย  ยูกันดา แซมเบีย และซิมบับเว ซึ่งความพยายามต่างๆเหล่านี้ได้สร้างองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีนในทวีปแอฟริกา

รัฐบาลหลายประเทศในแอฟริกาเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนก้อนโตจากจีนและเข้าร่วมในโครงการต่างๆภายใต้ข้อริเริ่มบีอาร์ไอของจีน เปิดโอกาสให้จีนใช้อิทธิพลทางการทูตในทวีปนี้ได้อย่างเต็มที่ ปูทางทำให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรจีนในทวีปนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในบรรดาข้อตกลงที่หลายประเทศทำกับจีนในการพัฒนายาสมุนไพรจีนคือประเทศแคเมอรูน โมแซมบิก ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย และโตโก โดยมีการลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการเมื่อสนับสนุนทีซีเอ็มภายในประเทศและประเทศเหล่านี้ก็ให้การรับรองทีซีเอ็มเพื่อนำมาใช้กับประชาชนในประเทศด้วย

หนึ่งในข้อตกลงหลายฉบับที่มีการลงนามโดยสมาชิกของสภาความร่วมมือจีน-แอฟริกา(เอฟโอซีเอซี) คือแผนปฏิบัติการปักกิ่ง( Beijing Action Plan) ที่เรียกร้องให้มีการร่วมมืออย่างแข็งขันในการพัฒนาด้านการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การศึกษา และการดูแลสุขภาพ และข้อเรียกร้องล่าสุดตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวที่ทำตามยุทธศาสตร์ปี 2562-2564 ระบุว่า สมาชิกทุกประเทศต้องสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทีซีเอ็มและยาสมุนไพรแอฟริกัน (ทีเอเอฟเอ็ม)

อีไอเอ เสนอแนะให้รัฐบาลประเทศต่างๆสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนบนพื้นฐานรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการวางแผนปลูกพืชสมุนไพรระยะยาว และมีมาตรการเฝ้าระวัง   

"เป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศในแอฟริกาได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพและเศรษฐกิจ  เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับปรุงคุณภาพชีวิต และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่ก็มีความสำคัญในระดับพอๆกันที่การพัฒนาด้านต่างๆต้องเกิดขึ้นในลักษณะเป็นประโยชน์ในทุกมิติ รวมถึงการปกป้องสภาพแวดล้อมและชีวิตผู้คนในระยะยาวด้วย"อีไอเอ ระบุ