3 บ.ผลิตวัคซีนโควิด-19 ฟันกำไรได้นาทีละ 65,000 ดอลล์
ผลวิเคราะห์ล่าสุดพบว่า บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ทำกำไรรวมกันนาทีละ 65,000 ดอลลาร์หรือ 2 ล้านบาทเพราะความสำเร็จของวัคซีน ขณะที่ประเทศในกลุ่มยากจนที่สุดของโลกยังคงเข้าไม่ถึงวัคซีน
กลุ่มพันธมิตรวัคซีนของประชาชน (People's Vaccine Alliance) หรือ พีวีเอ แนวร่วมรณรงค์ให้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้กว้างขึ้น เผยผลการวิเคราะห์ ที่บ่งชี้ว่า ไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ ไบออนเทค บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนี และโมเดอร์นา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและผู้พัฒนายาของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี mRNA มีกำไรรวมกัน 65,000 ดอลลาร์ (2 ล้าน 1 แสนบาท) ต่อนาที เนื่องมาจากการขายวัคซีนจำนวนมากให้แก่ประเทศที่ร่ำรวย ขณะที่พลเมืองในกลุ่มประเทศยากจนส่วนใหญ่ ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน
รายงานที่อ้างอิงการคำนวนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ ระบุว่า ทั้ง 3 บริษัททำกำไรก่อนหักภาษี 34,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ หรือ 1,000 ดอลลาร์ต่อวินาที, 65,000 ต่อนาที และ 93.5 ล้านดอลลาร์ต่อวัน
"มาซ่า เซยุม" เจ้าหน้าที่พีวีเอประจำภูมิภาคแอฟริกา ระบุว่า "เป็นเรื่องน่าละอายที่บริษัท 2-3 แห่ง กอบโกยกำไรหลายล้านดอลลาร์ทุกชั่วโมง ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีประชาชนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบโดสแค่ 2%"
ไฟเซอร์, ไบออนเทคและโมเดอร์นา ใช้ระบบผูกขาดในการทำสัญญาขายวัคซีนกับรัฐบาลที่ร่ำรวยที่สุด เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ในขณะที่ประเทศยากจนถูกทอดทิ้ง
ไฟเซอร์กับไบออนเทค ส่งวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศรายได้น้อยไม่ถึง 1% ของวัคซีนที่ผลิตได้ ขณะที่โมเดอร์นาจัดส่งเพียง 0.2% ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) ที่กระจายวัคซีนในรูปแบบการไม่แสวงผลกำไร แม้ทั้ง 2 บริษัทจะประกาศว่า เตรียมปรับนโยบายเร็วๆ นี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง
ขณะที่ไฟเซอร์, ไบออนเทค และโมเดอร์นา ที่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ปฏิเสธที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตยาในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง ผ่านองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ที่จะช่วยให้อุปทานเพิ่มสูงขึ้น ราคาวัคซีนถูกลง และสามารถปกป้องชีวิตผู้คยได้หลายล้าน