โควิดสาเหตุใหญ่ฉุดประชาธิปไตยเสื่อมถอย
สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยประชาธิปไตยและความช่วยเหลือการเลือกตั้งเตือน นานาประเทศเข้าสู่ลัทธิอำนาจนิยมมากขึ้น ขณะที่ประเทศประชาธิปไตยมั่นคงเจอภัยคุกคามสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยประชาธิปไตยและความช่วยเหลือการเลือกตั้ง (ไอดีอีเอ) องค์การระหว่างรัฐบาลซึ่งมีฐานปฏิบัติการในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน รายงานภาวะประชาธิปไตย ประจำปี 2564 อาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2518 พบว่า ปีนี้มีประเทศเสียหายจากภาวะประชาธิปไตยเสื่อมถอยมากขึ้น
“จำนวนประเทศที่ประชาธิปไตยถอยหลังไม่เคยสูงเท่านี้” เช่นความถดถอยในด้านการตรวจสอบความเป็นอิสระของรัฐบาล เสรีภาพสื่อ และสิทธิมนุษยชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเมืองประชานิยม การใช้ข้อบังคับคุมโควิด-19 มาปิดปากผู้วิจารณ์ แนวโน้มที่ประเทศต่างๆ เลียนแบบพฤติกรรมต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศอื่น
อัฟกานิสถาน ที่ถูกกองกำลังตาลีบันยึดเมื่อเดือน ส.ค.หลังจากทหารนานาชาติถอนตัวออกไป เป็นประเทศที่เสื่อมถอยมากที่สุดในปีนี้ ส่วนการรัฐประหารเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ถือเป็นการล่มสลายของประชาธิปไตยอันเปราะบาง ตัวอย่างอื่นๆ เช่น มาลี ที่เกิดรัฐประหารสองครั้งนับตั้งแต่ปี 2563 และตูนิเซีย ประธานาธิบดียุบสภาและยึดอำนาจฉุกเฉิน
ประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อย่างบราซิลและสหรัฐ มีคำถามเรื่องความถูกต้องของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนที่อินเดียมีการดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล
ฮังการี โปแลนด์ สโลวีเนีย และเซอร์เบีย เป็นประเทศยุโรปที่ประชาธิปไตยเสื่อมถอยมากที่สุด ตุรกีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถดถอยมากที่สุดระหว่างปี 2553-2563
“ในความเป็นจริง ขณะนี้ประชากรโลก 70% ถ้าไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็อยู่ในประเทศประชาธิปไตยเสื่อมถอย” รายงานระบุพร้อมชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลใช้พฤติกรรมอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นมากแต่ไม่มีหลักฐานว่ารัฐบาลอำนาจนิยมสู้โควิดได้ดีกว่า แม้สื่อทางการจีนจะรายงานข่าวไปในทางตรงข้าม
“การระบาดของโควิดเพิ่มเครื่องมือและความชอบธรรมให้กับกลวิธีปิดปากผู้เห็นต่างในหลายประเทศ อาทิ เบลารุส คิวบา เมียนมา นิการากัว และเวเนซุเอลา”
คืนนี้ (22 พ.ย.) เวลา 21.00 น.-23 .00 น. ตามเวลาประเทศไทย จะมีการถ่ายทอดสดรายงานฉบับดังกล่าว โดย Jutta Urpilainen คณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศร่วมแสดงสุนทรพจน์ด้วย
รายงานว่าด้วยสภาวะประชาธิปไตยฉบับล่าสุดเกิดขึ้นก่อนการประชุมผู้นำว่าด้วยประชาธิปไตยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค. ที่ราว 100 ประเทศจะร่วมกันหารือถึงความท้าทายที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังเผชิญอยู่