ดาวโจนส์ร่วง 29 จุดหลังเฟดยืนยันโครงการคิวอี

ดาวโจนส์ร่วง 29 จุดหลังเฟดยืนยันโครงการคิวอี

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี (16ธ.ค.)ปรับตัวร่วงลง 29 จุดหลังจากเฟดแถลงจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ในช่วงที่ยังมีโรคระบาดใหญในเดือนมี.ค.ปีหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง 29.79 จุด หรือ 0.08% ปิดที่ 35,897.64 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 41.18 จุด หรือ 0.87% ปิดที่ 4,668.67 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 385.15 จุด หรือ 2.47% ปิดที่ 15,180.43 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นเกือบ 400 จุดเมื่อวันพุธ(15ธ.ค.) ขานรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

ทั้งนี้ เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565 โดยการปรับลดวงเงินคิวอีของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำคิวอีในเดือนมี.ค.2565

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2567

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดวงเงินคิวอีเมื่อวานนี้สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่าเฟดจะเร่งการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เฟดได้เริ่มใช้ในเดือนมี.ค.2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนั้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หลังการประชุมเฟดวานนี้ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 44% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค.2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติการทำคิวอีและมีแนวโน้ม 63% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.2565

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 18,000 ราย สู่ระดับ 206,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย

ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 203,750 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2512

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 154,000 ราย สู่ระดับ 1.845 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมี.ค.2563

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 11.8% ในเดือนพ.ย. สู่ระดับ 1.679 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.568 ล้านยูนิต จากระดับ 1.502 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.

ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดีดตัวขึ้นในเดือนพ.ย. แม้ได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงาน

ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3.6% สู่ระดับ 1.712 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย.