ดาวโจนส์ทรุด 532 จุด กังวลโอมิครอน-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (17ธ.ค.)ดิ่งลง 532 จุด โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ท่ามกลางความวิตกต่อการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังมีรายงานระบุว่า วัคซีนของหลายบริษัทมีประสิทธิภาพต่ำในการสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 532.20 จุด หรือ 1.5% ปิดที่ 35,365.44 จุด
- ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 1% ปิดที่ 4,620.64 จุด
- ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 0.1% ปิดที่ 15,169.68 จุด
นักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงในวันนี้เช่นกัน หลังจากดีดตัวขึ้นวานนี้ ขานรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อผลประกอบการของภาคธนาคาร
ซิตี้กรุ๊ป ออกรายงานระบุว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี)
"ในระยะกลาง ดอลลาร์ยังคงได้รับปัจจัยหนุนให้ดีดตัวขึ้น ขณะที่เฟดมีแนวโน้มเริ่มต้นวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.2565" รายงาน ระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า สกุลเงินและตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่มักปรับตัวลง ก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชียยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่รุนแรงเหมือนชาติตะวันตก และเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นการฟื้นตัว
ทั้งนี้ เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้ และประกาศว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินคิวอีเป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565 โดยการปรับลดวงเงินคิวอีของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำคิวอีในเดือนมี.ค.2565
นอกจากนี้ ในการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2567
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยวอชิงตันและ Humabs Biomed SA ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า วัคซีนซิโนฟาร์มของจีน, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันของสหรัฐ และสปุตนิกของรัสเซีย มีประสิทธิภาพต่ำในการสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
รายงานระบุว่า ผู้ทื่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบโดสจำนวน 3 จาก 13 รายเท่านั้นที่ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดีต้านทานโอมิครอน และผู้ที่ได้รับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีเพียง 1 จาก 12 รายเท่านั้นที่มีภูมิต้านทาน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนสปุตนิกจำนวน 11 ราย ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่มีภูมิต้านทาน
รายงานยังระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ต่างก็มีแอนติบอดีต่ำเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์/ไบออนเทคจะมีการลดลงของแอนติบอดีน้อยที่สุด โดยลดลงเพียง 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์/ไบออนเทค แต่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะลดลงมากถึง 44 เท่า
ขณะนี้ ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนระบาดไปยัง 77 ประเทศทั่วโลกแล้ว หลังจากมีการตรวจพบไวรัสดังกล่าวครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ไม่ถึง 1 เดือน โดยโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า