1 ปีหลังรัฐประหารพม่า ‘ก้าวต่อไปไทย-อาเซียน’
การรัฐประหารในพม่าที่เพิ่งครบหนึ่งปีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ถือเป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากหนึ่งปีผ่านไปแต่ประชาชนยังต่อต้านรัฐบาลทหารแบบสู้ไม่ถอย สถานการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่กระทบถึงไทยและอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การแก้วิกฤติจำต้องร่วมมือกันทั้งภูมิภาค
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา (arcm-ce) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB) จัดการเสวนาวิชาการ “1 ปีหลังรัฐประหารพม่า” ระดมความคิดจากหลายภาคส่วน เริ่มต้นจาก รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา ฉายภาพแผนที่ภูมิทัศน์การเมืองพม่า ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2010 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ตามด้วยการเลือกตั้งปี 2015 พรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจีชนะเลือกตั้ง ล่าสุดการเลือกตั้งปี 2020 ที่ถูกประกาศให้โมฆะ พรรคเอ็นแอลดี (แทนด้วยสีแดงในแผนที่) คว้าชัยชนะเกือบทั้งหมด เหลือพื้นที่ให้พรรคยูเอสดีพี (แทนด้วยสีเขียว) ของกองทัพเพียงเล็กน้อย
นฤมลสรุปว่า นี่คือเหตุผลหลักของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564
"ตั้งแต่ 2010 ถึง 2021 จนถึงปีนี้ 2022 ซึ่งครบหนึ่งปีแล้วสิ่งที่กองทัพรับไม่ได้คือเปลี่ยนภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของพม่า หมายความว่าถ้ายังเล่นอยู่ในเกมการเลือกตั้งเผลอๆ สีเขียวที่เหลืออยู่น้อยนิดอาจหายไปเลย" ส่วนสีแดงที่เห็นหมายความว่า แม้จะถูกวิจารณ์มากมายเมื่อเทียบกับกองทัพแต่ประชาชนก็เลือกพรรคเอ็นแอลดี ต่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ชอบเอ็นแอลดีขนาดไหนก็ตาม เมื่อมาถึงการเลือกตั้งระหว่างกองทัพกับเอ็นแอลดี กลุ่มชาติพันธุ์ก็เลือกเอ็นแอลดี
ในส่วนของเศรษฐกิจ หลายคนอาจสงสัยว่าพม่ารอดมาได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลทหารยังปกครองไม่ได้ แถมยังสู้รบกันทุกวัน นักวิชาการรายนี้อธิบายว่า เศรษฐกิจพม่าก่อนรัฐประหารมีการลงทุนจากต่างประเทศสูงมาก ตอนนี้กำลังกลับเข้าไปสู่ cash economy (เศรษฐกิจเงินสด) เพราะระบบธนาคารทำงานได้ยาก ขัดแย้งกับ digital transformation ของทั่วโลก แต่จีนยังเป็นมหามิตร การรัฐประหารไม่มีผลต่อการลงทุนของจีนในพม่า สิ่งที่จีนห่วงคือถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้น เศรษฐกิจก็แย่ลง จีนจึงเริ่มมีบทบาทกดดันกองทัพพม่า “ถ้าคุณปกครองไม่ได้คุณก็ต้องประนีประนอม”
ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายความถึงสถานการณ์ภายในของพม่าว่า กองทัพพม่ามีอุดมการณ์แห่งชาติที่ถือปฏิบัติอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ มิให้สหภาพต้องล่มสลาย มิให้ความสามัคคี เอกภาพ สมานฉันท์ของคนในชาติต้องถูกทำลาย และค้ำยันอธิปไตยให้มั่นคง
“ถ้าการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือฝ่ายต่อต้านมีอะไรที่สุ่มเสี่ยง ขัดแย้งต่ออุดมการณ์สามประการนี้กองทัพพม่าพร้อมลุย” สิ่งที่กองทัพพม่ากลัว 1. ประชาชนที่เป็นพม่าแท้ 2. กลุ่มชาติพันธุ์ 3. การแทรกแซงจากต่างชาติ กองทัพพม่าต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้สามส่วนนี้มาบรรจบกัน หลังรัฐประหารหนึ่งปีทั้งสามส่วนมีพลังคุกคามกองทัพพม่าเพิ่มขึ้น ประชาชนเคลื่อนไหวทั้งอหิงสาและติดอาวุธ มองกองทัพเป็นศัตรู แต่กองทัพพม่าก็ใช้วิธีฟื้นกองทัพประชาชน สร้างประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศ เข้าไปค้นหา ทำลายบ้านของผู้ต้องสงสัยต่อต้านเผด็จการทหาร
“ในเมื่อประชาชนมียุทธศาสตร์ทำสงครามประชาชนเพื่อล้มระบอบทหาร กองทัพจึงต้องฟื้นกองทัพประชาชน และกองทัพพม่ายังมีกองกำลังสำรองที่เป็นมวลชนภาครัฐอีกพอสมควร”
มุมมองจากสภาไทย
จากสถานการณ์ภายในประเทศขยับสู่ภูมิภาค ถวิล เปลี่ยนศรี ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา กล่าวว่า พม่าทำให้อาเซียนแตกเป็นสองส่วน ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามมองว่าต้องให้โอกาส ขณะที่ประเทศที่ห่างไกลออกไปมีท่าทีแข็งกร้าว มองว่าพม่าไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ
ด้วยความต่างของสมาชิกเห็นได้ว่าการใช้อาเซียนโน้มน้าวพม่ายังได้ผลน้อย ทางที่ 3 คือปล่อยให้พม่าเป็นแบบที่อยากเป็น แต่สิ่งที่ไทยจะได้รับผลกระทบคือ ความปลอดภัยบริเวณชายแดน
“ในฐานะที่ไทยอยู่ติดกับพม่า ทุกครั้งที่เกิดการสู้รบในพม่าเราก็ได้รับผลกระทบ ที่ตกค้างถึงทุกวันนี้คือผู้หนีภัยจากการสู้รบอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเก้าแห่ง สี่จังหวัด ตกค้างมา 37 ปีแล้วยังกลับไม่ได้” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวและว่า เดิมตัวเลขอยู่ที่ 1.1 แสนคนเศษ ตอนนี้เหลือราว 80,000 คน บางคนเกิดและเติบโตในศูนย์ แถมมีผู้หนีภัยการสู้รบรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่ม
“ยิ่งปัจจุบันพม่านิยมปฏิบัติการทางอากาศยิ่งเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเรา นี่คือผลกระทบที่เราได้รับทันที ขณะที่ประเทศที่อยู่ห่างออกไปไม่ได้รับผลนี้” ปัญหาที่ซ้อนเข้ามาคือผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด
เกียรติ สิทธิอมร รองประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ประชาคมโลกต้องร่วมกดดันพม่าและดึงจีนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกับใช้เวทีผู้นำดึงสหประชาชาติมารับภาระแทนไทย
“ต้องไม่ให้ทั้งโลกคิดว่าปัญหาผู้ลี้ภัยคือปัญหาของไทย”
บทบาทอาเซียนและไทย
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Nation ผู้เชี่ยวชาญพม่า-อาเซียน อธิบายว่า การที่อาเซียนต้องเข้าไปทำงานในวิกฤติพม่า เพราะวิธีการทางทหารคงไม่สามารถยุติได้ หลายคนวิเคราะห์ว่ากองทัพพม่าล้มเหลวในการยึดอำนาจเพราะหนึ่งปีผ่านไปยังมีคนต่อต้าน ไม่สามารถหาคนรับรองรัฐบาลเนปิดอว์ได้
“อาจมีบางประเทศพยายามจะ engage แต่การรับรองอย่างเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น ผู้แทนพม่ายังไม่สามารถนั่งในยูเอ็นได้เลย นี่คือประเด็นที่ผมคิดว่ากองทัพสิ้นหวังมากและพยายามมองหาความชอบธรรมของเขาเพื่อให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากองกำลังชาติพันธุ์สุภลักษณ์มองว่ายังไม่เป็นเอกภาพจึงยังเอาชนะกองทัพไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จำต้องหันมาหาวิธีการทางการทูตที่ใกล้ที่สุดคืออาเซียน ไม่ใช่แค่เพราะพม่าเป็นสมาชิก แต่เหตุการณ์ทุกอย่างในพม่าย่อมส่งผลกระทบมาถึงอาเซียน จะให้อาเซียนอยู่เฉยย่อมทำไม่ได้ เพียงแต่อาเซียนทำงานช้าที่ผ่านมาต้องใช้เวลาถึงสองทศวรรษจึงจะบรรลุผล จากปี 1988 ถึงการเลือกตั้งปี 2011
หนึ่งปีที่ผ่านมาอาเซียนเปลี่ยนประธานจากบรูไนเป็นกัมพูชา วันที่เกิดรัฐประหาร อาเซียนที่มีบรูไนเป็นประธานออกแถลงการณ์แสดงความกังวล แต่ออกมาโดยการผลักดันของอินโดนีเซียประเทศที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากที่สุด นำไปสู่ฉันทามติ 5 ข้อ ที่สุภลักษณ์มองว่า โดยเนื้อหาพูดได้แค่ 3 ข้อ คือ มนุษยธรรม ทูตพิเศษ และการยุติความรุนแรง ส่วนรายละเอียดและวิธีการยังไม่สามารถแปลงไปสู่แผนปฏิบัติการได้อย่างจริงๆ จังๆ ปล่อยให้ฉันทามติ 5 ข้อถูกตีความโดยประธาน แม้แต่ทูตพิเศษก็ยังเถียงกันว่าเป็นทูตพิเศษของใคร ของอาเซียน ของประธาน หรือของใคร ในที่สุดก็ประนีประนอมกันว่าเป็นทูตพิเศษของประธานอาเซียน เมื่อเปลี่ยนประธานเป็นกัมพูชาก็เลยต้องเปลี่ยนตัวทูตพิเศษ ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง หรือการพบกับทุกฝ่าย ยังนิยามไม่ได้ว่าทุกฝ่ายคือใครบ้าง
“อาเซียนภายใต้ประธานบรูไนกับกัมพูชาเป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะฮุนเซนเก๋าที่สุดในอาเซียนแล้วตอนนี้ ตอนแรกเรามองในแง่ดีว่าฮุนเซนเตรียมส่งมอบอำนาจให้ลูกชายแล้ว ยังไงก็ต้องสร้างชื่อเสียงมากกว่าชื่อเสียก่อนลงจากอำนาจ แต่สิ่งที่สมเด็จฮุนเซนทำอาจมีปัญหามากๆ ตรงที่อาเซียนไม่มีเอกภาพเพียงพอในการออกฉันทามติและยังไม่มีแผนปฏิบัติการ ปล่อยให้ประธานด้นสดไปได้ตามอำเภอใจ ฮุนเซนพลาดตรงที่ไม่มีการปรึกษาหารือก่อนไปเนปิดอว์” การไปพม่าของฮุนเซนจึงเหมือนการรับรองมิน อ่องหล่าย
สุภลักษณ์มองว่า สิ่งที่ฮุนเซนกำลังจะทำต่อไปซึ่งถือว่าดีคือ การเคลื่อนไหวแบบ collective มากขึ้น เกิดแนวคิดสร้างทรอยก้า (Troika) โดยธรรมเนียมประกอบด้วย อดีตประธาน ประธานอาเซียนปัจจุบัน และประธานในอนาคตซึ่งจะทำให้อาเซียนเคลื่อนไหวเรื่องพม่าได้ดีขึ้น
อดีตสื่อมวลชนมากประสบการณ์ สรุปเฉดสีสมาชิกอาเซียนที่แสดงจุดยืนเรื่องพม่าจากเข้มไปหาอ่อน
-เข้มสุด อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทั้งๆ ที่การเมืองมาเลเซียง่อนแง่นเหมือนการเมืองไทยแต่เขาก็แรงได้ อย่าพูดว่ามาเลเซียไม่อยู่ติดพม่าเหมือนไทย มาเลเซียรับโรฮิงญาไปไม่น้อย
-สิงคโปร์มีผลประโยชน์เยอะ แต่ก็อยู่เป็นว่าต้องแสดงออกอย่างไร
-ฟิลิปปินส์ อยู่ไกลออกไปแต่ก็มีธรรมชาติความเป็นประชาธิปไตยแข็งแรง
-เวียดนามอยู่กลางๆ แต่แสดงท่าทีที่ดีมากในยูเอ็นร่วมประณามการยึดอำนาจและหาทางแก้ไข ขณะที่ไทย ลาว กัมพูชา งดออกเสียง “ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายในความเห็นของผม” สุภลักษณ์สรุป ส่วนบรูไนเมื่อหมดวาระประธานอาเซียนก็ถอยออกไป
“ด้วยความแตกต่างกันขนาดนี้ทำให้อาเซียน act ลำบาก” สุภลักษณ์สรุปและกล่าวถึงไทยว่า ถึงเวลาที่ต้องดำเนินการแล้ว เพราะตอนนี้ทั่วโลกผิดหวังกับท่าทีของไทยในการแก้ไขปัญหาพม่ารอบนี้ ตอนสงครามกัมพูชาไทยออกหน้าประเทศแรก หลังปี 1988 ไทยที่มีรัฐบาลจากการรัฐประหารเหมือนกันแต่ก็มีบทบาท นโยบาย constructive engagement, flexible engagement ล้วนเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ไอเดียทางการทูตทำนองนี้ไทยจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม
ส่วนเรื่องทรอยก้าของอาเซียนที่ยังไม่ลงตัวถือเป็นโอกาสอันดีของไทย เนื่องจากสมเด็จฮุนเซนเพลี่ยงพล้ำทางการทูตในการไปเยือนเนปิดอว์
“ผมอยากให้เสนอไทยเข้าไปร่วมในทรอยก้า ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตประธานอาเซียน ประธานปัจจุบัน และประธานในอนาคต อาจเป็นรูปแบบอื่นก็ได้ เช่น Friend of the Chair เพื่อให้ไทยเข้าไปมีบทบาทร่วมสร้างโร้ดแม็ปทั้งด้านการยุติความรุนแรงและมนุษยธรรม ให้ไทยเป็นศูนย์กลางดึงทรัพยากรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่ต้องพูดถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเลยก็ได้ ซึ่งไทยริเริ่มตรงนี้ได้ ไม่ใช่ภาระแต่เป็นความรับผิดชอบของคนอยู่ใกล้เคียงกันด้วย"
อดีตสื่อผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนเสนอข้อคิดเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่าที่หลายคนมองว่าเป็นภาระ
“อย่างผู้หนีภัยสงครามเมื่อ 30 ปีก่อนอยู่ในไทย 9 หมื่นคน ถ้าเราเปลี่ยนมายด์เซ็ตในการดูแลผู้อพยพมองว่าเขาเป็นเพื่อนบ้านเรา ประเทศไทยดูดซับแรงงานได้หลายล้านคน แต่กับคน 9 หมื่นเราไม่มีปัญญาจัดการเลยหรือ เราสามารถเปลี่ยนธรรมชาติของผู้อพยพ รอความหวังลมๆ แล้งๆ ให้เป็นแรงงานมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้”