หนังเล่าโลก: A STARRY SKY ABOVE THE ROMAN GHETTO ประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์กับคนรุ่นใหม่
ตามที่สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 27 ม.ค. เป็น“วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล” (International Holocaust Remembrance Day) สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “A Starry Sky Above the Roman Ghetto” เมื่อสัปดาห์ก่อน แม้จัดงานล่วงเลยมาหลายวันก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะการรำลึกโฮโลคอสต์สามารถทำได้ทุกวัน
A Starry Sky Above the Roman Ghetto ภาพยนตร์ปี 2020 ผลงานการกำกับของ Giulio Base บอกเล่าเรื่องราวของ ‘โซเฟีย’ เด็กสาวชาวอิตาลีในกรุงโรม ที่วันหนึ่งเธอได้เจอกระเป๋าเดินทางเก่าใบหนึ่งจากห้องใต้หลังคาในนั้นมีภาพของเด็กหญิงชาวยิวหนึ่งคน พร้อมจดหมายถึง “ซาราห์ โคเฮน” ที่ดูเหมือนเขียนโดยผู้ปกครองของซาราห์เอง ด้วยนิสัยมุ่งมั่นโซเฟียต้องการทราบให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเด็กหญิงคนนั้น
โซเฟียเริ่มปรึกษากลุ่มเพื่อนสนิทที่เป็นนักเรียนดนตรีด้วยกัน เบาะแสเริ่มแรกคือ นามสกุลโคเฮน เป็นนามสกุลชาวยิว เธอและเพื่อนๆ จึงมุ่งหน้าไปหาเบาะแสเพิ่มเติมจากชุมชนชาวยิว Roman Ghetto จนได้กลุ่มวัยรุ่นชาวยิวมาร่วมไขปริศนานี้ด้วย พวกเขาตั้งกลุ่มแช็ทชื่อว่า ซาราห์ โคเฮน คอยอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา การค้นคว้ามีทั้งหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ปากคำจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลเอกสารบันทึกชะตากรรมของชาวยิวในอิตาลีที่ถูกสังหารโดยกลุ่มนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แน่นอนว่าสารหลักจากหนังหนีไม่พ้นโศกนาฏกรรมที่ชาวยิวได้รับ แต่อีกสารหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่ออนาคตตามหาอดีต ภาพความมุ่งมั่นของโซเฟียที่ต้องการหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับซาราห์ โคเฮน ความร่วมมือระหว่างเธอกับเพื่อนๆ ทั้งชาวคริสต์และชาวยิวถือเป็นภารกิจยิ่งใหญ่เหนือกว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรม อุปสรรคขัดขวางในช่วงแรกมาจากผู้ใหญ่ที่ไม่ให้ความร่วมมือเกรงว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำจะไปเปิดแผลความเจ็บปวดในอดีต แต่ความร่วมมือร่วมใจของเด็กๆ ก็ก้าวข้ามอุปสรรคส่วนนี้ไปได้
อินเทอร์เน็ตเองก็มีบทบาทอย่างมากในภารกิจนี้ กลุ่มเด็กวัยรุ่นตามหาข้อเท็จจริงจากรูปภาพหนึ่งใบ จดหมายหนึ่งฉบับ บันทึกยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหลายเล่ม แต่โลกออนไลน์ก็ช่วยให้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น อย่างภาพถ่ายเพียงใบเดียวของเด็กหญิงซาราห์ โคเฮน การเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและเปิดให้ผู้คนในโลกออนไลน์ร่วมกันหาคำตอบก็ทราบได้ว่าภาพนี้ถ่ายที่ไหน ช่วยให้โซเฟียและผองเพื่อนตามไปหาข้อมูลจากสถานที่ดังกล่าวจนไขปริศนาชีวิตของเด็กหญิงผู้ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้อินเทอร์เน็ตจะมีส่วนช่วยหาข้อมูลได้มาก แต่ในชีวิตจริงโลกออนไลน์ก็เป็นแหล่งบิดเบือนข้อมูลได้เช่นเดียวกัน เดือน ต.ค.2563 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊คยอมรับว่า แนวคิดปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และต่อต้านชาวยิวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฟซบุ๊คจึงต้องมีนโยบายห้ามโพสต์เนื้อหาปฏิเสธโฮโลคอสต์ถ้าเจอจะโดนลบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค. สหประชาชาติมีมติรับรองข้อเสนอของอิสราเอลต่อสู้กับการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการต่อต้านชาวยิวโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย การปฏิเสธโฮโลคอสต์มีทั้งบิดเบือนข้อมูลประวัติศาสตร์ ลดทอนตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่หนักสุดคือปฏิเสธว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
เห็นได้ว่า แม้ความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ ให้คนรุ่นหลังศึกษาได้ตามอัธยาศัย การบิดเบือนข้อมูลกลับเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งนับวันผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์โฮโลคอสต์ซึ่งประสบเหตุโดยตรงล้วนสิ้นอายุขัยจากโลกนี้ไปทุกวัน การให้ “การศึกษา” จึงเป็นวิธีเดียวที่จะคงประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไว้ไม่ให้โลกลืม ทัั้งนี้ การจดจำไม่ใช่เพื่อแก้แค้นแต่เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติได้อีก และหน้าที่ในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์รวมถึงความเจ็บปวดอื่นๆ ที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันควรเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่พอๆ กับคนรุ่นที่ผ่านมา