"แอร์เอเชีย" เล็งเปิดบริการ "แท็กซี่อากาศ" ทั่วอาเซียนภายในปี 68

"แอร์เอเชีย" เล็งเปิดบริการ "แท็กซี่อากาศ" ทั่วอาเซียนภายในปี 68

ในอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า คนไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนอาจจะได้ใช้บริการเรียก “แท็กซี่อากาศ” ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางคล้ายกับบริการเรียกรถของ “แกร็บ” และ “อูเบอร์”

เมื่อไม่นานนี้ “แอร์เอเชีย กรุ๊ป” ของ “โทนี เฟอร์นันเดส” มหาเศรษฐีมาเลเซียและประธานบริหารกลุ่มแอร์เอเชีย และ “คามารุดดิน เมรานัน” ประธานแอร์เอเชีย ประกาศแผนเปิดบริการ “แท็กซี่อากาศ” ผ่านแอปฯ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2568 ในช่วงที่สายการบินซึ่งยังคงขาดทุนรายนี้ เดินหน้าเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจ

แอร์เอเชีย ระบุว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อเช่า “แท็กซี่แบบบินได้” หรืออากาศยานไฟฟ้า eVTOL (อีวีโทล) รุ่น VX4 จำนวนอย่างน้อย 100 ลำจาก “อาโวลอน” (Avolon) ผู้ให้เช่าเครื่องบินรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีขนาดฝูงบินกว่า 800 ลำ (ณ เดือนธ.ค. 2564) แต่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการเช่าเครื่องบินล็อตนี้

หลายปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียเดินหน้าขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) บริการเรียกรถผ่านแอปฯ เช่นเดียวกับบริการส่งอาหารและพัสดุ ในความพยายามเพื่อก้าวสู่การเป็น “ซูเปอร์แอป” ที่จะแข่งขันกับบรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของอาเซียนอย่าง “โกทู” ของอินโดนีเซีย และ “แกร็บ” และ “ซี” ของสิงคโปร์

ต้นเดือนก.พ. กลุ่มแอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (มาเลเซีย) บริษัทโฮลดิ้งของสายการบินดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “แคปปิตอล เอ” (Capital A) เพื่อสะท้อนถึงหน่วยธุรกิจที่มีความหลากหลายของบริษัท

“ตอนนี้เราเป็นมากกว่าแค่สายการบินแล้ว และมีผลิตภัณฑ์ และบริการมากกว่า 20 ประเภทบนซูเปอร์แอปของเรา ซึ่งมีให้เลือกมากมาย รวมไปถึงเที่ยวบิน โรงแรม อาหาร ค้าปลีก เดลิเวอรี เรียกรถรับ-ส่ง และอื่นๆ” เฟอร์นันเดส แถลง

นอกจากนี้ ประธานบริหารกลุ่มแอร์เอเชีย เสริมว่า รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับความเป็นพันธมิตรกันระหว่างอาโวลอนกับแอร์เอเชีย และศักยภาพด้านการเดินทางทางอากาศด้วยเที่ยวบินระยะสั้นซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลจากบริษัทอาโวลอน ระบุว่า เครื่องบิน VX4 บรรทุกผู้โดยสารได้ 4 คน และคนขับ 1 คน สามารถบินในระยะทางราว 161 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดราว 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะนี้ แอร์เอเชียกำลังเบนเข็มสู่ธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น ท่ามกลางภาวะขาดทุนสูงขึ้นจากข้อจำกัดด้านการเดินทางในยุคโควิด-19 ที่ฉุดตัวเลขการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วโลก และในช่วง 3 ปีหลัง แอร์เอเชียประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ด้วยผลขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5,900 ล้านริงกิตในปี 2563

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์