ปูด! "นักธุรกิจ - นักการเมือง" ผิดกฎหมาย แห่ฝากเงินธนาคารสวิส
การรั่วไหลข้อมูลครั้งใหญ่นี้ เผยความลับเจ้าของบัญชีเงินฝากหลายพันบัญชีที่รวมเงินกันมากกว่า 8 หมื่นล้านปอนด์ หรือราว 3.5 ล้านล้านบาทในธนาคารเครดิตสวิส แสดงให้เห็นพฤติกรรมลูกค้าทั้งที่เป็นนักธุรกิจ นักการเมือง และอาชญากรที่ใช้ช่องโหว่ของธนาคาร
เว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานว่า การรั่วไหลครั้งใหญ่ของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้เผยถึงความมั่งคั่งแต่แฝงไปด้วยซ่อนเร้นของลูกค้าบางราย อาจมีความเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การทุจริต และอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ โดยในกลุ่มนี้มีนักธุรกิจ และนักการเมืองไทยด้วย
รายละเอียดของบัญชีที่รั่วไหลได้เชื่อมโยงกับลูกค้าของเครดิตสวิส 30,000 รายทั่วโลก ซึ่งเปิดโปงผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 8 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 3.5 ล้านล้านบาท ที่ถืออยู่กับสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงอันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของธนาคารแห่งนี้ ในการตรวจสอบสถานะลูกค้า แม้ให้คำมั่นมาตลอดหลายทศวรรษจะกำจัดลูกค้าน่าสงสัยและกองทุนที่ผิดกฎหมาย
ในรายงานระบุประเทศที่มีลูกค้าเปิดบัญชีมากที่สุด เช่น เวเนซุเอลากว่า 2,000 บัญชี อียิปต์กว่า 2,000 บัญชี ยูเครนกว่า 1,000 บัญชีและไทยกว่า 1,000 บัญชี ต่างก็เป็นประเทศประสบปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจพยายามซุกซ่อนเงิน และทรัพย์สินตนเองไว้ในต่างประเทศ
สื่อรายงานว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย พบนักธุรกิจชั้นนำ นักการเมือง และอดีตข้าราชการ ที่ต่างเคยถูกตั้งคำถามเรื่องการโยกย้ายเพื่อซุกซ่อนทรัพย์สิน หวังหลีกเลี่ยงภาษี ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่บัญชีทั้งหมดในธนาคารเครดิตสวิส จะเป็นของอาชญากรหรือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย
เดอะการ์เดียนชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของธนาคารแห่งนี้ ยกตัวอย่างกรณีลูกค้ารายหนึ่งชื่อ Stefan Sederholm ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ชาวสวีเดนได้เปิดบัญชีกับเครดิตสวิส ในปี 2551 แต่บัญชีของเขาก็ยังใช้งานได้ปกตินานถึง 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ศาลตัดสินโทษให้เขาจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหากระทำผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ที่ฟิลิปปินส์
ตัวแทนของนายเซเดอร์ฮอล์ม เปิดเผยว่า เครดิตสวิสไม่เคยระงับบัญชี และไม่ได้ปิดบัญชีของเขาจนถึงปี 2556 เมื่อเดอะการ์เดียนถามว่า ทำไมนายเซเดอร์ฮอล์มถึงต้องมีบัญชีของเครดิตสวิส ซึ่งได้รับคำตอบว่าเมื่อตอนที่เขาอยู่ประเทศไทยได้ทำการเปิดบัญชีนี้ ดังนั้นช่วยบอกได้ไหม “ถ้าเป็นคุณต้องการฝากเงิน จะเปิดบัญชีกับธนาคารไทยหรือธนาคารสวิส”
อย่างไรก็ตาม การเปิดโปงข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวมาจากชายนิรนามได้ส่งข้อมูลให้กับหนังสือพิมพ์เยอรมนีชื่อ "Süddeutsche Zeitung" โดยเขาเชื่อว่า กฎหมายว่าด้วยความลับด้านการธนาคารสวิสเป็นเพียงข้ออ้างในการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางการเงิน แต่จริงแล้วพยายามปกปิดบทบาทของธนาคารสวิส ในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดในการหลบเลี่ยงภาษี
เครดิตสวิส ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาและคาดเดาใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจโดยมิชอบของธนาคาร และด้วยกฎหมายว่าด้วยความลับด้านการธนาคารที่เข้มงวดของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ทางธนาคารขอไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาได้