Indian Summer: ภารกิจหัวใจเพื่อชาติ
ว่ากันว่าคนมีเงิน ชาติตระกูลสูง มีอำนาจวาสนามักมีชีวิตส่วนตัวอื้อฉาว แล้วถ้าคนเหล่านี้ต้องทำภารกิจเพื่อชาติบ้านเมือง พวกเขาจะนำพาเรื่องส่วนรวมกับเรื่องส่วนตัวก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร
เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน Indian Summer: The Secret History of the End of an Empire ของ อเล็กซ์ ฟาน ทันซัลมานน์ ที่วันนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยสุภัตรา ภูมิประภาส และสำนักพิมพ์ยิปซี ในชื่อ Indian Summer ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ
จักรวรรดิอังกฤษเคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ด้วยมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลกรวมถึงอินเดียที่ถือเป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ครั้นสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์ทำให้มหาอำนาจต้องทะยอยปลดเปลื้องอาณานิคมเป็นรัฐเอกราช อนุทวีปอินเดียถูกแบ่งแยกเป็นอินเดียและปากีสถาน ท่ามกลางความยินดีและเจ็บปวดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประวัติศาสตร์บาดแผลยังสร้างความร้าวรานให้กับสองประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ในกรณี “แคชเมียร์”
ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ผู้สำเร็จราชการคนสุดท้ายแห่งบริติชอินเดียกับเลดี้ เอ็ดวินา เมานท์แบตเทน ภริยา เป็นผู้รับภารกิจการเปลี่ยนผ่านของอนุทวีปอินเดีย สองคนนี้ถือว่าเป็น “กิ่งทองใบหยก” ในสังคมอังกฤษ ลอร์ดหลุยส์หรืออดีตเจ้าชายหลุยส์แห่งบัทเทินแบร์ค เป็นพระราชปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ส่วนเลดี้เอ็ดวินาก็เป็นสาวไฮโซลูกหลานเศรษฐี แม้ฉากหน้าทั้งคู่คือคู่สมรสที่เหมาะสมกันในทุกมิติ แต่แท้จริงความรักจืดจางทั้งคู่แยกเตียงกันนานแล้วและต่างฝ่ายต่างไปมีคนรักใหม่เป็นตัวเป็นตนและเป็นที่รับรู้ของลูกสาวทั้งสองคน ลอร์ดหลุยส์นั้นดูท่าจะใจกว้างกว่าเมื่อภริยามีชายอื่นอย่างเปิดเผย แต่เลดี้เอ็ดวินากลับเป็นฝ่ายไม่พอใจเมื่อสามีมีหญิงอื่น ซึี่งเรื่องนี้ออกจะไม่ยุติธรรม และลูกสาวก็ค่อนข้างเห็นใจบิดาอยู่ไม่น้อย
ก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย ลอร์ดหลุยส์ในฐานะพระสหายเคยตามเสด็จเจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมาร (ก่อนครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) มายังอาณานิคมอินเดีย ภาพถ่ายแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมของคนทั้งคู่ หากดูด้วยสายตาคนสมัยนี้หนีไม่พ้นคำว่า “คู่จิ้น” ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าในงานเปิดตัวหนังสือฉบับแปลไทย ข้อมูลข่าวกรองจากสหรัฐยังสืบเสาะพบว่า ลอร์ดหลุยส์เป็น Homosexual (ศัพท์สมัยนั้นที่ยังไม่ใช้คำว่าเกย์) ชอบเด็กชายอายุ 8-12 ปี!!!
ส่วนชวาหะร์ลาล เนห์รูผู้นำพรรคคองเกรส ก็เป็นชนชั้นสูงของอินเดีย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ ถูกบังคับให้แต่งงานกับหญิงที่ตนไม่รัก มีลูกสาวคนเดียวคือ อินทิรา (คานธี) ต่อมาภรรยาป่วยเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มาก เนห์รูจึงครองสถานภาพพ่อหม้าย
นี่คือแบ็กกราวด์เล็กๆ ของตัวละครหลักใน Indian Summer สำหรับจุดเริ่มต้นของหนังสือ อเล็กซ์ ฟาน ทันซัลมานน์ ผู้เขียนเล่าไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ปี 2017 ในวาระครบรอบ 70 ปี อิสรภาพอินเดียว่า เธอสนใจหาข้อมูลเกี่ยวกับสามีภรรยาเมานท์แบตเทนโดยไปหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเนห์รู เมมโมเรียล ในกรุงเดลีเมื่อปี 2005 แล้วได้เห็นภาพถ่ายเลดี้เอ็ดวินาเกาะกุมมือกับเนห์รูระหว่างเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย จุดประกายให้ผู้เขียนในฐานะนักประวัติศาสตร์สนใจการแปรความในความสัมพันธ์พิเศษระหว่างคนทั้งสองกับผลกระทบทางการเมือง
นั่นคือจุดเริ่มต้นของนักเขียน ซึ่งจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเลดี้เอ็ดวินากับเนห์รูเป็นเรื่องที่คนรู้กันอยู่แล้ว และสำหรับผู้เขียนคอลัมน์ในฐานะนักอ่านเคยสะดุดใจกับความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่ได้อ่านเรื่อง Daughter of Empire: Life as a Mountbatten เขียนโดยเลดี้พาเมลา ฮิกส์ บุตรสาวคนสุดท้องของลอร์ดหลุยส์และเลดี้เอ็ดวินา เธอเล่าเรื่องมิตรภาพพิเศษระหว่างมารดากับเนห์รูอย่างเปิดเผย ชนิดที่คนสนใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ต้องไปหาข้อมูลต่อว่ามีหนังสือเล่มใดเขียนไว้บ้าง จนได้พบกับ Indian Summer ที่เล่าเรื่องราวกระบวนการให้เอกราชอินเดียคู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ระหว่างเลดี้เอ็ดวินากับเนห์รู พ่อหม้ายรูปงามนัยน์ตาโศก
ครอบครัวเมาน์ทแบตเทนเดินทางถึงเดลีในวันที่ 22 มี.ค.1947 จากวันนั้นจนถึงวันที่อินเดียได้เอกราชในนามของสองประเทศคือปากีสถานในวันที่ 14 ส.ค. และอินเดียในวันที่ 15 ส.ค. 1947 สองสามีภรรยาต้องพบปะเจรจากับผู้คนมากมาย ที่โลกรู้จักดีหนีไม่พ้นมหาตมะ คานธี ผู้นำการต่อสู้จักรวรรดิอังกฤษด้วยวิธีอหิงสา, โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้นำสันนิบาตมุสลิม ผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน และชวาหะร์ลาล เนห์รู ผู้นำพรรคคองเกรส รวมทั้งบุคคลอื่นๆ แต่ละคนเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้อังกฤษเดินออกมาจากอาณานิคมอย่างสง่างาม เกิดรัฐเอกราชนามอินเดียและปากีสถานอย่างเจ็บปวดน้อยที่สุด
"ตอนแบ่งเป็น 2 ประเทศ อินเดียกับปากีสถานตัดสินอนาคตประชากร 400 ล้านคนด้วยคนไม่ถึง 20 คนที่เป็นชนชั้นนำ ปัญญาชน แน่นอนเป็นตัวแทนประชาชนบางกลุ่ม การขีดเส้นแบ่งสองประเทศนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของโลก แต่นักการเมืองไม่มีใครทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ทุกคนทำเพื่ออิสรภาพที่รออยู่เบื้องหน้า" สุภัตรากล่าวบนเวทีเปิดตัวหนังสือ
ส่วนความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างลอร์ดหลุยส์, เลดี้เอ็ดวินา และเนห์รู ที่ดูเหมือนสามีจะรู้เห็นเป็นใจให้ภริยาเกิดความรู้สึกดีๆ กับชายอีกคนเพื่องานใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้า
"ลอร์ดหลุยส์กับเอ็ดวินา ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่โอเคเลย แต่เขาก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติได้อย่างยอดเยี่ยม เนห์รูก็เช่นกัน เขาผูกพันกับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งบุคคลและสถานที่ เช่น แคชเมียร์ที่เขาไม่อยากสูญเสียไป แต่เขาก็ต้องยอมฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่สุด" นักแปลให้ความเห็น ยิ่งตอกย้ำว่า คนเราอาจมีชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตรักเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานสังคม แต่หน้าที่ที่ต้องทำให้ประเทศชาตินั้นยิ่งใหญ่ไม่อาจละเลยได้ เพราะภารกิจหัวใจนี้เพื่อชาติ