แม้สงคราม'รัสเซีย-ยูเครน'จบแต่ความเสียหายไม่จบ
เกมการต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียและยุโรปปัจจุบันดำเนินมาถึงจุดท้าทายมากที่สุด โดยเฉพาะสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนได้เกิดคำถามถึงความเป็นเอกภาพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
อดีตเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับการยอมรับในวงการต่างประเทศและเชี่ยวชาญวิเคราะห์สถานการณ์โลก กล่าวว่า ในการประลองกำลังระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการสู้รบด้วยยุทโธปกรณ์ และตอบโต้กันด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศได้ประกาศแซงชั่นรัสเซียหลายระลอกและยกระดับต่อเนื่อง ไปพร้อมๆกับการทำสงครามข้อมูลข่าวสารออนไลน์ มีทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ ข่าวลวงข่าวหลอกที่มุ่งสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับฝ่ายตรงข้าม
สำคัญที่ฝ่ายไหนสามารถควบคุมพื้นที่ข่าวและดึงผู้มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจมาเป็นพวกได้ก็จะมีโอกาสชนะ อย่างเช่นจะเห็นประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนพูดผ่านโซเชียลมีเดียเรียกร้องนาโตและทั่วโลกยื่นมือช่วยเหลือ รวมถึงความพยายามกล่าวปราศรัยทางออนไลน์ไปยังรัฐสภาอังกฤษ สหรัฐ อิตาลี ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
ผิดแผน ‘รัสเซีย’
ในเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน มีปัญหา 3 เรื่องใหญ่ที่รัสเซียไม่เคยคิดมาก่อน ได้แก่ 1.รัสเซียคิดว่าจะสามารถทำการรบที่เลียนแบบเยอรมนีเหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยวันแรกสามารถเก็บพื้นที่ประเทศเบลเยียม ถัดมาวันที่สองเก็บโปแลนด์ และเมื่อถึงวันที่สามเก็บฝรั่งเศสได้
แต่จนถึงขณะนี้ รัสเซียบุกยูเครนเป็นเวลาจะร่วมหนึ่งเดือนแล้วก็ยังจัดการยูเครนไม่ได้ ซึ่งพื้นที่ที่รัสเซียสามารถเข้าควบคุมก็เป็นพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนคือ แคว้นโดเนตสค์ และลูฮันสค์ในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งถูกปกครองด้วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่กองทัพรัสเซียยังไม่สามารถเข้าถึงใจกลางกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนได้ทั้งหมด แม้ว่าจะสร้างความเสียหายบริเวณรอบนอกได้ก็ตาม
‘รัสเซีย’ จุดเปลี่ยนเอกภาพนาโต
2.เหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนกลับไม่สร้างแรงต้านทางการทหารจากนาโตอย่างที่รัสเซียคิดไว้ก่อนหน้า เพราะหลังการบุกเข้าไปในยูเครน กลับทำให้นาโตเกิดความสามัคคีและมีเอกภาพภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่นาโตก่อตั้งองค์กรความร่วมมือมากกว่า 40 ปี ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกก็ไม่ราบรื่นเสียทีเดียว และมีเรื่องค่อนแคะถามถึงความจริงใจต่อกัน ซึ่งมาพร้อมๆกับกระแสความไม่พอใจในเรื่องเงินสมทบด้านกลาโหมของสมาชิกนาโตที่ต้องลงขันร่วมกัน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐแสดงความไม่พอใจที่เยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรปว่าไม่ยอมจ่ายเงินงบกลาโหมตามที่ตกลง และปล่อยให้สหรัฐจ่ายเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ
ส่วนทางฝรั่งเศสเองก็ไม่รู้ว่า การต้องจ่ายงบกลาโหมเพิ่มขึ้นจะเป็นมาตรการที่ดีหรือไม่ เดิมจ่าย 2% ของจีดีพีของประเทศสมาชิกนาโต มาเป็น 4% ของจีดีพีของประเทศสมาชิกนาโต หรือคิดเป็น 2 เท่าของจำนวนที่เคยตกลงกันไว้
ขณะที่เยอรมนี มองว่างบนี้ต้องจ่ายมากกว่าที่ผ่านมาอยู่แล้ว และพันธมิตรประเทศยุโรปทั้งหมดรู้ดีว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงได้เปลี่ยนไป ก็จำเป็นต้องปรับปรุงให้กองทัพนาโตมีแนวทางปฏิบัติที่ทันสมัยขึ้นสมกับงบกลาโหมที่จ่ายแต่ละครั้ง
ถึงกระทั่งช่วงเวลาก่อนบุกยูเครน ก็ไม่มีประเทศสมาชิกนาโตในยุโรปสมทบเงินสูงกว่า 2% ของจีดีพี แต่หลังจากที่ยูเครนถูกรุกรานประเทศไปแล้ว 3 - 4 วัน เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่พยายามรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียอยู่เสมอ และไม่อยากเป็นศัตรูเพราะต้องอาศัยพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียก็ต้องทบทวนนโยบายใหม่ต่อรัสเซีย
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนีได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาว่า สถานการณ์ข้างหน้าบ่งบอกว่า นาโตกำลังมีอันตรายมากขึ้น ดังนั้นเยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือกับยูเครนเต็มที่ โดยการส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยสู้รบ พร้อมกันนี้ยังประกาศให้เงินสมทบกลาโหมนาโตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึงสามเท่า หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพีประเทศสมาชิกนาโต เหตุการณ์นี้ทำให้สมาชิกนาโตอื่นๆ เริ่มขยับทำตาม
“เชื่อว่าสหรัฐก็ต้องมีคิดบ้าง ที่ผ่านมาได้พยายามกระตุ้นเตือนพันธมิตรนาโตให้เพิ่มเงินสมทบกลาโหม แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ แต่พอเกิดเหตุรัสเซียบุกยูเครน ก็เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว ทำให้บรรดาสมาชิกนาโตพากันเพิ่มเงินสมทบกลาโหมเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค” อดีตทูตอาวุโสกล่าว
สงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนอิทธิพลจีน
3.รัสเซียไม่คิดว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านภายในประเทศหลายพันคนออกมาเคลื่อนไหวไม่เอาสงครามแรงกว่าที่เป็นอยู่ และ 4.รัสเซียหวังว่าจีนจะเข้ามาช่วย ซึ่งจีนเข้ามาสนับสนุนไม่ได้ เพราะในเมื่อตอนนี้จีนดำเนินนโยบายการต่างประเทศเพื่อรักษาดุลยอำนาจไว้ดีอยู่แล้ว และถ้าทำอย่างนี้ต่อไป จะทำให้อำนาจและอิทธิพลของจีนในเอเชียจะสูงขึ้น แถมโดดเด่นในภูมิภาคยิ่งขึ้น ซึ่งผลการกระทำของรัสเซียกลับเป็นต้นทุนที่ดีให้กับจีน
ขณะเดียวกัน ยูเครนแม้เป็นประเทศขนาดกลาง มีประชากรราว 70 ล้านคน แต่พื้นที่ประเทศยูเครนมีขนาดใหญ่ในยุโรป เป็นอันดับสอง รองจากรัสเซีย ทั้งยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นฐานเทคโนโลยีให้กับรัสเซีย ปัจจุบันมีคนยิวหลายแสนคนอยู่ในยูเครน แม้แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ยังมีเชื้อชาวยิวทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งพื้นที่นี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย
สงครามจบแต่ผลกระทบไม่จบ
ในความจริงแล้ว แต่ละปีมีชาวยูเครนเชื้อสายยิวย้ายไปอยู่และเดินทางไปมาหาสู่อิสราเอลเป็นแสนคน ขณะเดียวกันก็มีคนอิสราเอลเดินทางมาทำธุรกิจและลงในยูเครนก็มีอยู่มาก นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเสนอเป็นคนกลางเจรจาเพื่อยุติสงคราม นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากหลายประเทศพยายามเข้ามีส่วนร่วมการเจรจาสร้างสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีตุรกี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายกรัฐมนตรีปากีสถาน โดยเชื่อว่าขณะนี้ทั่วโลกมีความเห็นร่วมกันว่าต้องการยุติสงคราม เพราะทุกคนรู้หากปล่อยไปแบบนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะพลอยทำให้ยุโรปพังไปด้วย และส่งทอดผลกระทบไปทุกประเทศ
อดีตนักการทูตอาวุโสกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้สงครามยุติแต่ความเสียหายยังอยู่ชั่วอายุคน ไม่เฉพาะแต่กับชาวยูเครน แต่รวมถึงคนทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เปรียบได้กับภาวะลองโควิด-19 ที่ทิ้งไว้เป็นอาการหลังติดเชื้อไวรัส ถึงเวลานั้นเราจะร่วมมือฟื้นฟูสถานการณ์นี้อย่างไร