ดาวโจนส์พุ่ง 349 จุดคลายกังวลเงินเฟ้อหลังราคาน้ำมันร่วง
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(24มี.ค.)ดีดตัวขึ้น 349 จุดหลังราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 349.44 จุด หรือ 1.02% ปิดที่ 34,707.94 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 เพิ่มขึ้น 63.92 จุด หรือ 1.43% ปิดที่ 4,520.16 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 269.24 จุด หรือ 1.93% ปิดที่ 14,191.84 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 400 จุดวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น และผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ราคาน้ำมัน WTI, เบรนท์เริ่มมีเสถียรภาพในวันนี้ โดยล่าสุด สัญญาล่วงหน้า WTI หลุดระดับ 113 ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ใกล้หลุด 119 ดอลลาร์ หลังสหรัฐเปิดเผยว่าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้า ซึ่งจะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
นักลงทุนจับตาการประชุมฉุกเฉินขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในวันนี้เพื่อหามาตรการตอบโต้รัสเซียจากการที่ส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์เมื่อวานนี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของ 3 กลุ่มในวันนี้ ซึ่งได้แก่ การประชุมนาโต, การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 และการประชุมสหภาพยุโรป (EU)
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังมีกำหนดเดินทางเยือนโปแลนด์ในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงวอชิงตันในวันเสาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 28,000 ราย สู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2512 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 67,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2513
เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564 จากระดับ 55.9 ในเดือนก.พ.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวของอุปสงค์ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานดีดตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงในเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 58.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 57.3 ในเดือนก.พ.
สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 58.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 56.5 ในเดือนก.พ.