ประกาศเคอร์ฟิว "ศรีลังกา" บล็อกโซเชียลมีเดีย สกัดประท้วงใหญ่
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รัฐบาลศรีลังกาปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียรวมถึงเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และประกาศเคอร์ฟิว 36 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในวันเสาร์ (2 เม.ย.) จนถึง 6.00 น. ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า รัฐบาลศรีลังกา ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียรวมถึงเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และประกาศเคอร์ฟิว 36 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในวันเสาร์ (2 เม.ย.) จนถึง 6.00 น. ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังประชาชนประท้วงต่อต้านรัฐบาลกรณีขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง
ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ แห่งศรีลังกา ออกประกาศห้ามมิให้ผู้ใดปรากฏตัวอยู่บนถนนสาธารณะ, ในสวนสาธารณะ, บนรถไฟ หรือบนชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางการ
นอกจากนี้ วอตส์แอป (WhatsApp) ก็ล่มอีกด้วย โดยผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้รับข้อความว่า "เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม"
มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการประท้วงครั้งใหม่ หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผารถใกล้กับที่พักส่วนตัวของปธน.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (31 มี.ค.) หลังจากนั้น ทางการได้ส่งทหารเข้าประจำการในพื้นที่และมอบอำนาจให้สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ
ทั้งนี้ ประเทศศรีลังกากำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จนส่งผลให้ไฟดับทั้งประเทศเป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน ตลอดจนเกิดภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง, อาหาร และยา เป็นชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้น
เมื่อวันพฤหัสบดี ประชาชนเริ่มประท้วงบริเวณด้านนอกบ้านพักของปธน.ราชปักษะในกรุงโคลัมโบอย่างสงบ แต่ผู้เข้าร่วมประท้วงกล่าวว่าความรุนแรงเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำสลายม็อบ และทุบตีประชาชน ด้านผู้ประท้วงตอบโต้ตำรวจด้วยการปาหินใส่
โดยสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรายงานจากทางการว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 20 รายได้รับบาดเจ็บระหว่างการปะทะ ต่อมา ผู้ประท้วง 53 คนถูกจับกุมเมื่อวันศุกร์ (1 เม.ย.) และสื่อท้องถิ่นรายงานว่าช่างภาพจากสำนักข่าว 5 คนถูกควบคุมตัวและทรมานที่สถานีตำรวจ โดยรัฐบาลกล่าวว่าจะทำการสอบสวนกรณีดังกล่าว
การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีการปราบปราม โดยแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ผู้ประท้วงในเมืองหลวงถือป้ายเรียกร้องให้ปธน.ลาออก
โดยการประท้วงครั้งนี้ถือเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของความนิยมในตัวปธน.ราชปักษะ ซึ่งเข้ามามีอำนาจโดยชนะการเลือกตั้งในปี 2562 โดยให้คำมั่นว่าจะสร้างเสถียรภาพและจะใช้วิธีการแข็งกร้าวในการปกครองประเทศ