เปิดเงื่อนไขดำเนินคดีปูติน "ก่ออาชญากรรมสงคราม"

เปิดเงื่อนไขดำเนินคดีปูติน "ก่ออาชญากรรมสงคราม"

หลังจากพบหลุมศพขนาดใหญ่และศพพลเรือนถูกมัดมือแล้วยิงในระยะใกล้ที่เมืองบูชาของยูเครน เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย

แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมประเด็นที่ต้องรู้ 

การพุ่งเป้าพลเรือนเป็นอาชญากรรมสงครามหรือไม่

เป็น ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก (ไอซีซี) นิยามอาชญากรรมสงครามไว้ว่า เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่ออนุสัญญาเจนีวาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวางกฎหมายด้านมนุษยธรรมที่ต้องปฏิบัติระหว่างสงครามเอาไว้

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า การโจมตีเป้าหมายทางทหารอันชอบธรรมแต่มีพลเรือนเสียชีวิตมากเกินไปถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาด้วยเช่นกัน

เมื่อวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) รองนายกเทศมนตรีเมืองบูชากล่าวว่า ชาวบ้าน 50 คน ถูกทหารรัสเซียวิสามัญฆาตกรรม

โจนาธาน ฮาเฟตซ์ นักวิชาการด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ วิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยเซตันฮอลล์ในสหรัฐกล่าวว่า การสังหารพลเรือนอย่างที่กล่าวหาในเมืองบูชา “เป็นอาชญากรรมสงครามโดยสารัตถะ”

ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียแย้งว่า ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนไม่ได้พุ่งเป้าพลเรือน ภาพและคลิปศพในเมืองบูชา “เป็นอีกหนึ่งการยั่วยุ” โดยรัฐบาลยูเครน

ผู้สอบสวนจะเก็บหลักฐานได้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า คณะผู้สอบสวนจะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เช่น เมืองบูชา แล้วสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์เพื่อทำคดี

เจมส์ โกลด์สตัน ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชน Open Society Justice Initiative ในนิวยอร์ก กล่าวว่า ภาพและรายงานข่าวจากบูชาจะเปิดให้คณะผู้สอบสวนในยูเครนติดตามผู้รอดชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ทหารรัสเซียที่ถูกกองทัพยูเครนจับได้ก็จะให้หลักฐานได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า อัยการอาจหาหลักฐานจากพื้นที่สงครามได้ยาก เนื่องจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งพยานอาจถูกข่มขู่หรือไม่กล้าพูด

ดำเนินคดีกับปูตินและเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สำหรับคดีอาชญากรรมสงครามส่วนใหญ่ผู้สอบสวนจะต้องพิสูจน์เจตนาและความผิดของจำเลยอย่างสิ้นสงสัย

อเล็กซ์ ไวท์ติง อาจารย์รับเชิญวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ภาพถ่ายล่าสุดจะทำให้ดำเนินคดีง่ายขึ้น

“จากนั้นมีคำถามอีกว่า ใครรับผิดชอบและสูงแค่ไหน” ไวท์ติงกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับทหารและผู้บังคับบัญชาจะทำได้ง่ายกว่า แต่ประมุขของรัฐก็อาจโดนฟ้องร้องด้วย อัยการจะต้องแสดงหลักฐานว่าปูตินหรือผู้นำคนอื่นๆ ก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการสั่งการโดยตรงให้โจมตีอย่างผิดกฎหมาย  หรือรู้ว่ากำลังมีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นแต่ไม่ได้ป้องกัน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าปฏิบัติการในบูชาถูกสั่งการจากระดับสูงในรัฐบาลรัสเซีย แต่ถ้าความโหดร้ายแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่อื่นในยูเครนก็อาจชี้ไปถึงนโยบายหรือคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง

พิจารณาคดี “ลับหลัง” ได้หรือไม่

คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการ ศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ว่า เขาเปิดสอบอาชญากรรมสงครามแล้ว แม้ว่ายูเครนและรัสเซียไม่ใช้สมาชิกไอซีซี ก่อนหน้านี้ยูเครนเห็นชอบให้สอบย้อนไปถึงปี 2556 ซึ่งรวมถึงการผนวกไครเมียของรัสเซีย

ถ้าอัยการพิสูจน์ได้ว่า “มีเหตุผลเหมาะสม” ให้เชื่อว่ามีการก่ออาชญากรรมสงคราม ไอซีซีก็จะออกหมายจับ แต่ในเมื่อทั้งรัสเซียและยูเครนต่างไม่ใช่สมาชิกไอซีซี รัฐบาลมอสโกไม่ยอมรับอำนาจศาลและเกือบจะแน่นอนแล้วว่าไม่มีทางให้ความร่วมมือ

การพิจารณาคดีจะเลื่อนไปจนกว่าจำเลยถูกจับ เนื่องจากไอซีซีไม่สามาถพิจารณาคดีลับหลัง หรือไม่ถูกควบคุมตัวได้ แต่ไอซีซียังสามารถสอบสวนและออกหมายจับได้

“ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวของการฟ้องร้องคือสามารถสร้างตราบาปและเพิ่มแรงกดดัน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจนำไปสู่การจับกุมได้” โกลด์สตันกล่าว

นอกเหนือจากไอซีซีแล้ว อาจมีการตั้งศาลคล้ายๆ กับที่ดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามระหว่างสงครามบอลข่านเมื่อต้นทศวรรษ 90 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 2537

ฟิลิป แซนด์ส อาจารย์ University College London กล่าวว่า เขาติดต่อกับดิมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน เรื่องการตั้งศาลยุติธรรมดำเนินคดีระหว่างประเทศ “อาชญากรรมรุกราน” โดยรัสเซีย ไอซีซีไม่สามารถทำคดีนี้ได้เพราะต้องเกี่ยวข้องกับรัฐสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งรัฐ

รีเบกกา แฮมิลตัน อาจารย์กฎหมายจากAmerican University ระบุ ไม่น่าเป็นไปได้ที่ศาลยุติธรรมจะพิจารณาคดีโดยที่จำเลยไม่ถูกควบคุมตัว เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศไม่ยอมรับการพิจารณคดี “ลับหลัง”

ดำเนินคดีนานแค่ไหน

เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า การฟ้องร้องคดีอาชญากรรมสงครามอาจใช้เวลาแค่สามหรือหกเดือน แต่การดำเนินคดีอาจใช้เวลาหลายปี

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย ศาลใช้เวลาสองปีพิพากษาคำฟ้องแรก เป็นครั้งแรกที่ศาลฟ้องร้องประมุขแห่งรัฐซึ่งก็คือประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเชวิชของยูโกสลาเวียในขณะนั้นเมื่อปี 2542 และควบคุมตัวเขาในปี 2544 การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นในปี 2545 และยังไม่จบขณะเขาเสียชีวิตที่กรุงเฮกเมื่อปี 2549