‘เวิลด์แบงก์-เอดีบี’มองต่างผลกระทบสงครามยูเครนต่อศก.เอเชีย
เอดีบี เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียโดยระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะซ้ำเติมเศรษฐกิจเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสองแห่งมีมุมมองต่อผลกระทบจากสงครามในยูเครนต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่แตกต่างกัน โดยธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์มองในแง่ร้าย ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)กลับมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อไป
ธนาคารโลก เผยรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียอาจชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนจากนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทานสินค้า อุปสรรคทางการเงิน และอัตราเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากสงครามในยูเครน
รายงานชิ้นนี้ระบุถึงปัจจัยลบหลายด้านที่รุมเร้าภาคธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะชะลอตัวลง สวนทางกับอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้น
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 5% ลดลงจากระดับ 5.4% จากการคาดการณ์ไว้ครั้งที่แล้ว โดยอาจลดลงจนแตะระดับ 4% หากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เทียบกับระดับการขยายตัวที่ 7.2% เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ 5% ลดลงจาก 8.1% เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการเงินและการผลิตของประเทศอื่นในเอเชีย
รายงานชิ้นนี้ ยังระบุถึง ปัจจัยลบสามประการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของเอเชียโดยรวม คือ สงครามในยูเครน, นโยบายการเงินของสหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
“ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าสงครามในยูเครนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความล่าช้าออกไป” “อาทิตยา แมททู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย
แมททู กล่าวว่า “ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยลบในระดับที่รุนแรงและสร้างความรู้สึกช็อกหลายระลอกที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันดับแรกคือ สงครามยูเครนที่จะสร้างความปั่นป่วนแก่ซัพพลายด้านอาหารและเชื้อเพลิง และตอนนี้ก็ผลักดันให้ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว จากนั้นจะทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินมากขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม”
แมททู กล่าวด้วยว่า ปัจจัยลบที่สร้างความรู้สึกช็อคอื่นๆคือ การชลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เกิดจาการล็อกดาวน์เพื่อปราบปรามการระบาดของโรคโควิด-19 และการตอบสนองของสหรัฐที่หนุนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วระบบการเงินที่ตึงตัวไปทั่วโลก
รายงานชี้ว่า สงครามในยูเครนทำให้ราคาเชื้อเพลิงและสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น ลดทอนอำนาจการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และเพิ่มภาระให้แก่ธุรกิจและรัฐบาลต่าง ๆ ที่ล้วนมีภาระหนี้ในระดับสูงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ธนาคารโลกยังแนะนำให้รัฐบาลของประเทศในเอเชียยกเลิกข้อจำกัดด้านการค้าและบริการต่าง ๆ เพื่ออาศัยประโยชน์จากโอกาสด้านการค้า พร้อมไปกับการยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลแล้วหันไปพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแทน
ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย จะขยายตัวที่ 5.2% ในปีนี้ โดยระบุว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย
เอดีบี เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียโดยระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะซ้ำเติมเศรษฐกิจเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ได้แก่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างมาก, เสถียรภาพทางการเงินที่อาจเผชิญความเสี่ยงเนื่องจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
เอดีบี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 5% ในปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2564 ที่มีการขยายตัว 8.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศจีน
นอกจากนี้ เอดีบี ยังปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในปีนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.7% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะอยู่ที่ 3.1%
“อัลเบิร์ต พาร์ค” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีให้เหตุผลที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวดีว่า“สะท้อนถึงมุมมองที่เป็นบวกของเราเกี่ยวกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในเอเชีย และมองว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชียจะต่ำกว่าส่วนอื่นๆของโลก ส่วนราคาสินค้าจำเป็น เช่นราคาข้าวและราคาเนื้อหมูจะปรับตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อ จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเอเชีย ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่นๆของโลก”
แต่สถาบันการเงินชั้นนำของโลกทั้งสองแห่งก็เตือนว่า จะมีบางประเทศที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการทำสงครามในยูเครน เช่น มองโกเลียและประเทศอื่นๆในเอเชียกลาง รวมทั้งประเทศนำเข้าอาหารจากรัสเซีย เช่น หมู่เกาะแปซิฟิก ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหารายได้ที่แท้จริงลดลง
ประเทศที่มีหนี้สินก้อนโต เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและมองโกเลีย และประเทศที่มีการพึ่งพาการส่งออกสูง เช่น มาเลเซียและเวียดนาม ล้วนอ่อนไหวต่อการเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก