“เจโทร” เปิดกลยุทธ์ "อาเซียน" ฟื้น ศก. ยุคโควิด-19
หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคโควิด-19 ที่เจโทรค้นพบเป็นคสามสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี ช่วยป้องกันการสั่นคลอนของนโยบายประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดจะเปิดกว้างและแข่งขันได้ และทำให้ยากต่อการใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและการเมือง
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำกรุงเทพมหานครในฐานะสำนักเลขาธิการของเครือข่ายสถาบันวิจัย(Research Institutes Network :RIN)จาก 16 ประเทศรวมทั้งญี่ปุ่นและไทยได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อเศรษฐศาสตร์ การเมืองและสังคมในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทางสถาบันวิจัย RINได้เน้นศึกษาในเรื่อง“กลยุทธ์การเติบโตในยุคหลังโควิด-19”ในหลากหลายหัวข้อ เช่น ความท้าทายของแต่ละประเทศในยุคหลังโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอน เศรษฐกิจหมุนเวียน นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น และได้จัดทำรายงานการวิจัยโดยนักวิจัย12 คน จากสถาบันวิจัยที่เป็นสมาชิก RIN 7 แห่ง และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ เพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA)
“จันทร์สมร วงไพสิด”นักวิจัยและรองประธานสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NIER) กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบในทางลบต่อกิจกรรมการผลิตและบริการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของลาว ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลงและการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานนี้ แม้ว่าก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ลาวมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าโลกในธุรกิจนี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนการค้าที่สูง
รัฐบาลลาวมองว่า ควรปรับปรุงขั้นตอนการค้าให้เป็นดิจิทัลต่อไป เพราะการค้าแบบดิจิทัลให้โอกาสในการลดต้นทุนการค้ารองรับห่วงโซ่อุปทานให้ราบรื่นและอำนวยความสะดวกให้ประเทศมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก
“มะยา ตานดะ” อธิการบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมากำลังวางแผนที่จะนำโปรแกรมประกันสุขภาพไปใช้กับโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าร่วมระบบการประกันสุขภาพในเมียนมานั้นน้อยมาก ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากเสี่ยงต่อความยากลำบากทางการเงินในกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรง
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบปัจจัยการเข้าร่วมระบบประกันสุขภาพ โดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (A binary logistic regression model) พบว่าอายุของสตรี การศึกษา อาชีพ ขนาดครัวเรือน และดัชนีความมั่งคั่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเป็นเจ้าของประกันสุขภาพ
รัฐบาลเมียนมาควรแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการประกันสุขภาพ และดำเนินโครงการสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง
ด้าน “นูร์ โซเฟีย ฮัสมิรา อาซาฮา” นักวิจัยอาวุโสสถาบันยุทธศาสตร์และศึกษาระหว่างประเทศของมาเลเซีย (ISIS) กล่าวว่า โรคโควิด-19 เปิดโปงความเปราะบางในตลาดแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะเยาวชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานสูง และการทำงานไม่ตรงตามทักษะ และเสี่ยงที่จะถูกไล่ออกระหว่างเรียน ตลอดจนอาจยกเลิกการจ้างงานกลางคัน
ดังนั้น มีความจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในท้องถิ่น (TVET) และยกระดับมาตรฐานการพัฒนาความสามารถให้มีทักษะสูง
“คนงานต้องได้รับทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน” นักวิจัยฯ มาเลเซียกล่าว
อีกทั้ง ความท้าทายที่สำคัญในระบบ TVET จะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่เพียงแต่ความสามารถของนักการศึกษา แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมที่ขาดประสิทธิภาพระหว่างผู้ให้บริการและอุตสาหกรรม และการขาดโครงสร้างพื้นฐาน จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ขณะที่ “เหงียน อาน เซือง”ผู้อำนวยการภาควิชาปัญหาเศรษฐกิจทั่วไปและการศึกษาบูรณาการ สถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจของเวียดนาม (CIEM) กล่าวว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในเวียดนาม ซึ่งทำให้ประเทศต้องจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งสำคัญ
เวียดนามสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองหลังวิกฤติการเงินโลก ปี 2551 - 2552รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การรักษาการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การปรับปรุงการเปิดกว้างทางการค้า การระดมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงความสามารถในการปรับตัวของบริษัทและพนักงาน
แนวโน้มทางเศรษฐกิจมหภาคในเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจหากดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ อาจขยายผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการเงินต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)และการเติบโตของการส่งออกได้
“ชิโร อาร์มสตรอง”ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและบรรณาธิการฟอรัมเอเชียตะวันออกของสำนักนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) มองว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาจเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นลงทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงจำกัดอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่บังคับใช้และบรรทัดฐานที่เชื่อถือได้ จะช่วยกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในคลังอาวุธของประเทศที่มีอำนาจน้อยกว่าในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นขณะเดียวกันระบบการค้าพหุภาคีช่วยป้องกันการสั่นคลอนของนโยบาย เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดที่เปิดกว้างและแข่งขันได้ ทำให้ยากต่อการใช้เครื่องมือ เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและการเมือง
ในส่วนของเจโทรได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมวิจัยในหัวข้อต่างๆ เช่น ปัจจัยที่กำหนดกฎแหล่งกำเนิดสินค้าในเอเชียตะวันออก การวิเคราะห์ผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และผลกระทบจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อการค้า และตลาดแรงงานของการเดินเรือทั่วโลกโดยมุ่งเป้าไปยังการสร้างสังคมโลกที่ยั่งยืน