มองโลกสวยด้วย ‘โยคะตา’
การรวมศาสตร์ตะวันออกเพื่อฟื้นฟูดวงตา วิถีธรรมชาติที่จะช่วยถนอมสายตาคนยุคดิจิทัล
ดวงตาไม่ใช่แค่หน้าต่างของหัวใจ แต่ยังเป็นศูนย์รวมของประสาทการมองเห็น แต่ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมดิจิทัลดูเหมือนจะใช้ดวงตากันจนเกินกำลัง ข้อมูลจาก DIGITAL 2019: GLOBAL INTERNET USE ACCELERATES ระบุว่าคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตนานเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงพบผู้มีปัญหาสายตามากขึ้น ซึ่งหลายคนก็อาจเคยมีอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น แสบตา ตาแห้ง ปวดกระบอกตา ไปจนถึงความผิดปกติที่เกี่ยวกับการมองเห็นอื่นๆ แต่แทนที่จะต้องรอให้หนักหนาสาหัส ลองมาทำความรู้จักกับศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า ‘โยคะตา’ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติ อุราภา วัฒนะโชติ มาหาคำตอบกันว่า มีวิธีใดบ้างที่จะดูแลสายตาให้ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
- เริ่มต้นจากอินเดีย
“ตอนนั้นไปเรียนจักระนั่งสมาธิรักษาโรค ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตา ที่เมืองสุรัต ประเทศอินเดีย คนที่มาเรียนด้วยคือ อาจารย์อมาร์จิต สวาอิน เรานั่งอยู่หลังห้องมองไม่เห็น สายตาสั้น 175 เอียง 150 ระหว่างที่หยิบแว่นมาใส่ อาจารย์ก็ทักว่าใส่แว่นทำไมตาสั้นนิดเดียว เขาทำให้เราตาดีได้นะ เราก็สนใจทันที ตอนนั้นคุณแม่ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ไปด้วย นั่งรถตุ๊กๆ อินเดียไปกับอาจารย์ที่เมืองแถวคุชราต ตอนแรกที่เห็นตกใจเป็นตึกแถวสองชั้น เดินขึ้นไปคนเยอะมาก 50 คนอยู่รวมกันในห้องเดียว ทำบริหารกันใหญ่ มีทั้งเด็กผู้ใหญ่ เราก็อยากรู้ว่าเขาจะทำให้เราตาดีได้อย่างไรโดยไม่ได้ทำเลสิก" อุราภา เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับศาสตร์การดูแลดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติ
“ลำดับแรก อาจารย์อมาร์จิตก็วัดสายตาแล้วให้ไปบริหารตาตามฐานต่างๆ คุณแม่ก็เดินตามไปทุกสถานีเลย เสร็จแล้วก็มาตรวจ ช่วงที่อยู่อินเดีย 3 อาทิตย์ พอเรียนโยคะสมาธิเสร็จก็ไปบริหารตาต่อทุกวัน วันแรกทำเสร็จ อาจารย์จะมานั่งพูดคุย ให้ดื่มน้ำมะขามป้อม มีคนหนึ่งจอตาเสื่อม เขาก็ให้กินน้ำมะขามป้อม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าโรคนี้อาจจะไม่หาย แม่ก็สนใจว่าเขาคุยอะไรกัน โชคดีที่อาจารย์ยินดีพูดคุยกับเราด้วย เราก็คิดในใจว่าอยากให้คนที่เรารู้จักได้ทำบ้างเพราะสายตาเราดีขึ้นจริงๆ ขากลับอาจารย์ก็ยึดแว่นเราไป บอกว่าฉันยึดแว่นยู ไม่ต้องใส่แล้ว เราก็ไม่เคยใส่แว่นอีกเลย”
อุราภา เรียนจบปริญญาตรีและโทจากสถาบัน AIT สหรัฐอเมริกา คุณพ่อเป็นแพทย์ คุณแม่เป็นจักษุแพทย์ จึงมีโอกาสติดตามคุณแม่ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนยากจนอยู่เสมอ ซึมซับความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้คน ต่อมาได้ไปเรียนศาสตร์ด้านเซไตยกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น-สวีเดน ชื่อ‘คาเซมารุ’ ที่เกาะฮีโร่ ฮาวาย เรียนรู้การจัดระเบียบร่างกาย ยืดเหยียดเหมือนโยคะแบบญี่ปุ่น นั่งสมาธิ เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ จากนั้นจึงได้รู้จักกับ ‘ชี่’ พลังชีวิต อบรมต่อเนื่องเป็นปี ทำให้สนใจเรื่องสุขภาพที่เน้นเรื่องจิตใจเป็นหลัก ก่อนที่จะมาเรียนด้านจักระสมาธิรักษาโรคที่อินเดียแล้วได้พบกับอาจารย์อมาร์จิต
ความตื่นเต้นหลังกลับจากอินเดียโดยไม่ต้องสวมแว่นตา ทำให้เธอจัดสัมมนาแล้วเชิญอาจารย์อมาร์จิตมาให้ความรู้ “อาจารย์เป็นคนสมถะ เป็นโยคี อายุประมาณ 60 ปี เราอยากให้คนไทยได้ทำบ้างก็จัดสัมมนา เอาเงินเก็บซื้อตั๋วเครื่องบินให้อาจารย์บินมาเลย คุณแม่เห็นว่าเราเอาจริงก็สนับสนุนให้ใช้คลินิกเขา เราก็เกณฑ์คนรู้จักมาทำก่อน อาจารย์เอาที่วัดสายตามา แล้วตอนทำประคบตาก็เปิดเพลงอินเดียให้ฟังไปด้วย ทุกคนฝึกกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นจัดอีกหลายที่ โรงพยาบาลเชียงราย, โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน” ก่อนที่จะเปิดคลินิกอย่างเป็นจริงเป็นจัง (ศูนย์ Natural Joy Vision @ DS Clinic) โดยคนแรกที่เข้ามาก็คือ เด็กญี่ปุ่นวัย 6 ขวบ มีปัญหาสายตาสั้น
"ที่คลินิกขั้นแรกต้องวัดค่าตาจากคอมพิวเตอร์ก่อนว่าเท่าไร เราจะโชคดีกว่าอาจารย์อมาร์จิต เพราะคุณแม่สนับสนุนซื้อเครื่องมือให้ แต่อาจารย์ไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ถ้าย้อนกลับไปร้อยปีที่เมืองที่อาจารย์อยู่จะมีอาศรมดูแลดวงตา ปัจจุบันก็ยังมี แต่มีแค่ลูกบอล ล้างตา แล้วก็ส่องพระอาทิตย์ เป็นเบสิกที่ทำกันมาร้อยปี ส่วนอาจารย์อมาร์จิตเป็นนักฟิสิกส์ คิดค้นประยุกต์วิธี Exercise แต่พอไปนำเสนอในอาศรมเขาก็ห้าม ทีนี้พอคนที่มาหาเขาตาดีกลับไปมากกว่าอาศรมอื่นๆ ก็เลยออกมาข้างนอกดีกว่า ออกมาได้ไม่ถึงปี เราก็ได้ไปรู้จักเขา” อุราภา เล่ารายละเอียดของอาจารย์อมาร์จิตให้ฟัง
- ศาสตร์เพื่อสายตา
ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความรู้จากการไปอบรมมาหลายแขนง ทำให้อุราภาประยุกต์รวม 3 ศาสตร์ เซไตย, ชี่กง, โยคะ ไว้ด้วยกัน ออกมาเป็น 12 แบบฝึกเน้นการฟื้นฟูดวงตาด้วยการฟื้นฟู 4 ผสาน คือ ดวงตา, จิตใจ, สมอง, ร่างกาย
‘เซไตย’ คือศาสตร์ญี่ปุ่นในการจัดระเบียบร่างกายและจิตใจให้สมดุล มีหลักการว่าสมองกับตาทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสมองทำงานหนักจนเมื่อยล้า กะโหลกศีรษะหนักจะเคลื่อนลงดึงขั้วประสาทให้เลื่อนลงทำให้เกิดอาการมึน เรามักจะเห็นแพทย์จะใช้ไฟฉายส่องดูรูม่านตาของคนป่วยที่นอนสลบเพื่อตรวจเช็คว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากรูม่านตาไม่มีการตอบสนองกับแสงไฟแสดงว่าคนๆ นั้นสมองตายหรือสมองหยุดทำงานแล้ว
ส่วน ‘ชี่กง’ คือส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้จากประเทศจีนกว่า 2,000 ปี เป็นการฝึกพลัง วิธีปฏิบัติ ดึง ‘ชี่’ พลังชีวิตภายในร่างกายมาใช้ เพื่อรักษาสุขภาพ ฝึกฝนร่างกาย จิตใจ สุดท้าย ‘โยคะ’ คือการฝึกปรับลมหายใจ เพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจให้เลือดหมุนเวียน ลำเลียงเลือดและออกซิเจนสู่สมองได้ดีขึ้น
วิธีการของอุราภาจึงถูกออกแบบให้เป็นการฟื้นฟู eye mine brain body “สถานีแรกคือ คอ บ่า ไหล่ ต้องคลาย เรามีเครื่องกระตุ้นชี่ มีเรื่องตา มีให้ฝึกสมอง ก่อนอื่นเราจะวัดสายตาตามปกติ 6 เมตรมาตรฐานก่อน แล้วลองใส่แว่นกับไม่ใส่แว่น พอฝึกไปเรื่อยๆ จะมีการตรวจเป็นระยะๆ จริงๆ 3-4 ครั้งก็เริ่มเห็นผลแล้ว แต่มันยังอยู่ในช่วงกราฟทะยาน บางคนได้ผลพลอยได้ ทำแล้วหลับสบาย ที่น่าสังเกตคือ ค่าสายตาเท่าเดิม แต่การมองเห็นจะดีขึ้น วัดคุณภาพการมองเห็นจะดีขึ้น เคยมีคนสายตาสั้นมาก 2,800 มาทำที่นี่แล้วปัจจุบันเหลือ 800 กับ 500”
กลไกของการมองเห็น เกิดจากการทำงานของ 3 ส่วนเชื่อมโยงกัน คือ ดวงตา จิตใจ และสมอง (Eye-Mimd-Brain) เมื่อแสงตกกระทบวัตถุสะท้อนมาที่กระจกตา, เลนส์ตา, จอตา ก็ส่งภาพไปยังสมอง เพื่อแปลภาพและส่งต่อจิตใจเพื่อแปลความหมาย ดวงตายึดโยงด้วยกล้ามเนื้อ Ciliary Muscle ทำงานร่วมกับเลนส์ตา มีการยืดตัว, หดตัว, เกร็งตัว เพื่อปรับโฟกัสให้มองในระยะต่างๆ ชัดเจน หากเลนส์ตาไม่สามารถปรับได้จะเกิดความผิดปกติทางสายตา อย่างการมองระยะใกล้ กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวให้เส้นเอ็นยึดเลนส์ตา Zonule ผ่อนคลาย เลนส์ตาจะหนาขึ้น แต่ถ้ามองระยะไกล กล้ามเนื้อจะยืดตัวให้เส้นเอ็นยึดเลนส์ตาตึง เลนส์ตาจะยุบตัวลงหรือบางลง เป็นการเพ่งชัด (Accommodation) ในระยะที่แตกต่างกัน
ในทางการแพทย์ กล้ามเนื้อซีเลียรี่เคลื่อนไหวด้วยการกระตุ้นของประสาทอัตโนมัติส่วนกลาง อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เหมือนกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร เมื่อเกิดสายตาสั้นหรือยาวเราจึงคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากเราควบคุมกล้ามเนื้อซีเลียรี่ไม่ได้นั่นเอง
ในเวลาต่อมา มีการวิจัยยืนยันว่า กล้ามเนื้อซีเลียรี่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วน Cerebrum ทำหน้าที่รับรู้ปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย หมายความว่าถ้าเราฝึกฝนหรือบริหารกล้ามเนื้อซีเลียรี่ให้คลายตัวผ่านกระบวนการรับรู้ของซีรีบรัมได้แล้ว สายตาที่ผิดปกติก็จะสามารถดีขึ้นได้ และหากฝึกกล้ามเนื้อตามัดอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะช่วยปรับโฟกัสเลนส์ตาให้ดีขึ้นได้
“ความเข้าใจในหลักการของการเพ่งหรือการปรับเลนส์ตาในระยะต่างๆ เพื่อความคมชัดที่ดวงตาด้วยประสาทอัตโนมัติ จึงเป็นแก่นของการฟื้นฟูดวงตาแบบวิถีธรรมชาติ หากเราสามารถฝึกกล้ามเนื้อตาทุกมัด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อซีเลียรี่ไม่ให้มีความตึงเครียด ให้ผ่อนคลาย เลือดก็จะไหลเวียนได้ดี ออกซิเจนไปเลี้ยงตาได้ทั่วถึง ดวงตาสามารถเคลื่อนไหวไปยังจุดที่ต้องการมองเห็นได้ เป็นการเพิ่มขอบเขตการมองให้กว้างขึ้น เลนส์ตาก็ยืดหยุ่นขึ้น ปรับโฟกัสได้ดีขึ้น การมองเห็นก็ชัดขึ้น”
สำหรับอุราภา เธอได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูบำบัดดวงตาออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า ‘สายตาดีด้วยวิธีมหัศจรรย์’ ตีพิมพ์ครั้งที่ 8 ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนและภาษาเกาหลี
ถือเป็นศาสตร์ทางเลือกหนึ่งในการดูแลดวงตาที่ทำได้ทุกเพศทุกวัย เมื่อร่างกายต้องการการออกกำลังกาย ดวงตาของเราก็เช่นเดียวกัน
- เทคนิคถนอมดวงตา
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดวงตาของเราอ่อนล้า วิธีเช็คง่ายๆ คือ ชูนิ้วขึ้นมาแล้วเพ่งมองที่นิ้วของเรา ถ้ามองนานๆ แล้วรู้สึกไม่ไหว (กรณีคนสูงวัยมองใกล้ที่ 20 เซนติเมตรแล้วรู้สึกไม่ไหว) นั่นแสดงว่าเริ่มมีอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตา เพื่อไม่ให้สายตาเสื่อมก่อนวัยลองใช้วิธีการเหล่านี้ดู
- ไม่ควรใช้สายตาเกิน 45 นาที ใช้แค่ 20-30 นาทีแล้วหยุดพัก ละสายตาไปมองไกลๆ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา
- ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรง เท้าวางราบ ไม่ควรอ่านหรือดูสมาร์ทโฟนในที่มืด หรือเคลื่อนไหวไปมา
- ถ้านั่งทำอะไรนานๆ สายตากล้ามเนื้อเลนส์ตาจะป่อง ต้องคอยเตือนตัวเองให้หยุดพักเป็นระยะๆ กระพริบตา 1-2 ครั้งทุก 10 วินาทีเพื่อทำความสะอาดและช่วยหล่อลื่นดวงตาให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
- นวดเบ้าตาบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตา (อย่ากดบนดวงตาและข้างในดวงตา) ใช้นิ้วกลางกดบริเวณหัวตา คลึงเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา วนรอบกระบอกตา 2-3 ครั้ง แล้วกลับมากดและเน้นที่หัวตาอีกครั้ง โดยนวดจากหัวคิ้วทั้งสองข้าง คลึงวนๆ ไปทางหางตาและด้านล่างกระบอกตานับเป็น 1 รอบ ทำติดต่อกัน 5 ครั้ง
- ทำ Plaming ประคบตา โดยประกบฝ่ามือ ถูให้เกิดความร้อนแล้วนำไปประคบที่ตาทั้งสองข้าง ทำมือเป็นสามเหลี่ยมเว้นช่องให้หายใจ จากนั้นลืมตาในมือตนเอง 1 นาที นับ 1-60 แล้วปิดตาในมือ 5-20 นาที
- กินอาหารผักผลไม้บำรุงสายสายตา บร๊อคโคลี่ ปวยเล้ง สปิแนช ตำลึง น้ำมะขามป้อม ฯลฯ